วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กระบวนการจัดการต้นกล้าให้มีความแข็งแรงก่อนการย้ายปลูก


ปั่น-กรอก-กด-หยอด-ปาด

กระบวนการมาตรฐาน
ตามลำดับขั้นในการจัดการต้นกล้า
ต้นกล้าที่สมบูรณ์ ต้องมีระบบรากแข็งแรง
ช่วยให้พืชสามารถตั้งตัวได้อย่างรวดเร็ว
มีความสามารถในการหาอาหารได้ดี

โรคที่พบในระยะกล้า ได้แก่
เน่าคอดิน (Southern blight) 
กล้าเน่ายุบ (Damping off)

ใช้สารเคมีหรือเชื้อจุลินทรีย์ควบคุมได้

ปัญหาที่พบมากในโรงเพาะกล้า
คือมักจะเกิดตะไคร่น้ำบนหน้าดิน
เพราะอุณหภูมิและความชื้น
ที่เหมาะสมต่อการเจริญ
ของตะไคร่น้ำ

ตะไคร่น้ำจะขัดขวาง
การไหลของน้ำลงสู่ชั้นราก
ทำให้ต้นกล้าขาดน้ำ
และเกิดการเหี่ยวถาวร

อากาศร้อนมาก เกษตรกรก็ยิ่งรดน้ำมาก
เพราะกลัวต้นกล้าขาดน้ำ และเหี่ยวถาวร
แนะนำให้ดูสภาพต้นกล้า แทนที่จะดูหน้าดิน

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2561

การป้องกันโรคทางดินโดยการใช้ Rootstock พันธุ์ดี


ในประเทศไทยนิยมใช้มะเขือพวงมาเป็น rootstock
สำหรับการ grafting มะเขือเทศอย่างแพร่หลาย
ในขณะที่มะเขือเทศป่าที่นำเข้าจากบังคลาเทศ
ก็เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีความต้านทานต่อเชื้อเหี่ยวเขียว
สูงกว่า rootstock โดยทั่วๆ ไปที่ใช้กัน
เคยมีการทดสอบในพื้นที่ปลูกที่มีการระบาดของเหี่ยวเขียวอย่างรุนแรง
พบว่ามะเขือเทศป่าสามารถเจริญเติบโตได้เป็นปกติในพื้นที่การระบาด
ในขณะที่มะเขือเทศ F1 ของบริษัทชั้นนำของโลกกลับไม่รอดจากการเข้าทำลาย

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ตัวอย่างปัญหาที่พบในการผลิตเมล็ดพันธุ์


1) BFB (Bacterial Fruit Blotch) ในพืชตระกูลแตงโม เป็นเชื้อที่ติดไปกับเมล็ด (Seed Borne) หากแก้ปัญหานี้ได้ quota การผลิตจะกลับเข้ามาในประเทศไทยมหาศาล (ฉีด Copper Hydroxide เพื่อป้องกันทุก 5 วัน นับจากวันติดดอกจนกระทั่งสิ้นสุดการเก็บเกี่ยว
2) Seed Vigor (ความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์) และ Seed Size (ขนาดของเมล็ดพันธุ์) ซึ่งส่งผลต่อจำนวนเมล็ดพันธุ์ต่อกิโลกรัม (Seed Count per Weight) ผู้ผลิตบางรายต้องการเมล็ดพันธุ์ที่เล็กแต่มีความแข็งแรงสูง ในขณะที่ผู้ผลิตส่วนใหญ่ไม่ได้ระบุขนาดของเมล็ดพันธุ์ เพียงแต่ต้องการเมล็ดพันธุ์ที่เต่ง ความแข็งแรงสูงเท่านั้น
3) สายพันธุ์ต้นพ่อที่นำเข้ามาจากต่างประเทศส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาเรื่องความแข็งแรงและความพร้อมของเกสรตัวผู้ (Pollen) เพราะสภาพอากาศที่ร้อนชื้นของประเทศไท
4) ความแข็งแรงของต้นพืชมีผลต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์
ต้นที่สมบูรณ์เกินไป จะส่งผลโดยการลดปริมาณ ขนาด และความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์ที่ได้ ผู้ผลิตจึงต้องการแนวทางการจัดการต้นพืชที่ไม่ให้สมบูรณ์จนเกินไปจนส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณของเมล็ดพันธุ์
5) Seed Borne Disease (เชื้อโรคที่ติดไปกับเมล็ดพันธุ์) อาทิเช่น TMV (Tobacco Mottled Virus), BFB (Bacterial Fruit Blotch) ในขณะที่ TYLCV (Tomato Yellow Leaf Curl Virus) ที่มีพาหะคือ แมลงหวี่ขาว (White Fly) และ TSWV (Tomato Spotted Wilt Virus) ที่มีพาหะคือ เพลี้ยไฟ (Thrips) ไม่ได้เป็นเชื้อโรคที่ติดไปกับเมล็ดพันธุ์ แต่ก็ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตไม่ใช่น้อย

@ สิ่งที่ต้องการ

1) พืชตระกูลแตงสามารถงอกได้ดีใน Brown Peat ส่วนมะเขือม่วงงอกได้ดีใน Dark Peat + Black Peat (1: 1) ส่วนผสมดังกล่าวทำให้รากสมบูรณ์ เดินได้ดี
2) ต้องการต้นกล้าที่มีความสมบูรณ์ของรากพืชมากกว่าความสมบูรณ์ของลำต้น
3) ตารางการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช
4) วิธีการจัดการโรคพืชทั่วไป อาทิเช่น ราน้ำค้างในพืชตระกูลแตง (70% ของความเสียหายในพืชตระกูลแตง), ใบจุดในมะเขือเทศ (Stemphylium Leaf Spot), เน่าคอดินในต้นกล้า (Damping - off) โดยใช้สารเคมี
5) สารป้องกันกำจัดฯ ที่สามารถฉีดในช่วงติดดอกได้ โรคที่พบได้แก่ ราแป้งในพริกพบช่วงหลังจากติดผลผลิต รวมทั้งมะเขือเทศและพืชตระกูลแตงที่มักจะพบโรค แมลงศัตรูพืชในช่วงผสมพันธุ์
6) สารป้องกันกำจัดฯ ที่ฉีดในช่วงผสมพันธุ์ ควรจะไม่มีกลิ่นหรือมีกลิ่นน้อยเพื่อความปลอดภัยของคนผสมพันธุ์
7) ปุ๋ยอินทรีย์ปรับสภาพดิน รองพื้น รวมทั้งปุ๋ยเคมี ธาตุ Nitrogen ควรจะอยู่ในรูป Nitrate ซึ่งจะช่วยให้ลำต้นของพืชไม่อวบจนเกินไป Fiber เยอะ ต้นแข็งแกร่ง
8) สารป้องกันกำจัดฯ ที่ราคาไม่แพง (ต้นทุนต่อหน่วยเปรียบเทียบ)

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง


เกษตรกรไทยนักผลิตเมล็ดพันธุ์
ต้องปรับปรุงเทคนิคการผลิต
อยู่ตลอดเวลา
เนื่องจากความต้องการ
เมล็ดพันธุ์คุณภาพของโลก
ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
การปรับลดต้นทุนก็เป็นปัจจัยหนึ่ง
ที่นักเกษตรจะต้องช่วยกันคิด
เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

ทุกวันนี้การผลิตสินค้าเกษตรทำได้ไม่ง่าย
สาเหตุจาก
สภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน
ส่งผลต่อการเติบโตของพืชและศัตรูพืช
พื้นที่ปลูกที่ผ่านการใช้งานมาอย่างหนัก
ศัตรูพืชที่สะสมและระบาดรุนแรงขึ้น

เทคนิคใหม่ๆ จึงต้องถูกนำมาใช้
เพื่อลดข้อจำกัดในการผลิต
ทำให้ความต้องการผู้เชี่ยวชาญ
ทางเทคนิคในการผลิตพืชมีสูงขึ้น
ตามระดับความต้องการอาหาร
ของประชากรโลก

สุขอนามัย ความปลอดภัยของอาหาร
เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจ
เมล็ดพันธุ์ถูกแบ่งระดับตามวิธีการผลิต
เมล็ดพันธุ์ธรรมดา เมล็ดพันธุ์ปลอดโรค
เมล็ดพันธุ์อินทรีย์

ทั้งหมดนี้ถูกกำหนดจากความต้องการ
ของผู้บริโภค ซึ่งเป็นส่วนบนสุด
ของห่วงโซ่อาหารของโลก

ในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะได้เห็น
เทคนิคการผลิตเมล็ดพันธุ์
ด้วยวิธีการใหม่ๆ ตามมาอีกมากมาย

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ความก้าวหน้าของประเทศไทยในการเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญของโลก


ในวันนี้ประเทศไทยถือเป็นแหล่งผลิต
เมล็ดพันธุ์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ด้วยคุณภาพผลผลิตที่ส่งออกมายาวนาน
ทักษะของเจ้าหน้าที่เทคนิคและเกษตรกร
สภาพอากาศที่เหมาะสมตลอดทั้งปี
เมล็ดพันธุ์ที่ได้จึงมีคุณภาพดีเยี่ยม
เป็นที่ยอมรับของคู่ค้าทั่วโลก
สามารถนำไปจำหน่ายได้ในราคาที่สูง

นับจากในอดีตมีบริษัทต่างชาติเข้ามา
ตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยนับสิบบริษัท
เนื่องจากจุดเด่นทางด้านสภาพอากาศ
ที่สามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี
แรงงานที่มีอย่างมากมาย
ต้นทุนแรงงานไม่ได้สูงนัก
หากเทียบกับในปัจจุบันซึ่งค่าจ้างแรงงาน
ที่สูงขึ้นเนื่องจากความเชี่ยวชาญที่สูงขึ้น
อีกทั้งเงื่อนไขทางการค้าที่ภาครัฐสนับสนุน
การลงทุนของต่างชาติในประเทศไทย

การถ่ายทอดเทคโนโลยี
ถูกส่งเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
รูปแบบการผลิตเปลี่ยนไป
จากการผลิตในระบบแปลงเปิด
ก้าวเข้าสู่การผลิตในระบบปิด
'เพาะต้นกล้าลงบนวัสดุเพาะปลอดเชื้อ
อนุบาลต้นกล้าในโรงเรือนกันแมลง
เสียบยอดบนกิ่งพันธุ์ต้านทานโรคทางดิน
ปลูกลงในวัสดุปลูกปลอดเชื้อที่บรรจุในภาชนะ
จัดวางอย่างเป็นระเบียบในโรงเรือน
ที่มีการวางระบบการให้น้ำพืชอย่างเพียงพอ
สามารถจ่ายปุ๋ย สารควบคุมศัตรูพืช
ตามความต้องการของพืชได้รายวัน'
เมล็ดพันธุ์ที่ได้จึงมีมูลค่าสูงกว่าในอดีต
เนื่องจากผลิตภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย
ที่ทั่วโลกยอมรับ
นี่จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยในธุรกิจเมล็ดพันธุ์

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

โอกาสทางธุรกิจในสินค้าเมล็ดพันธุ์ของไทย


ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นศูนย์กลาง
ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ของโลกโดยแท้จริง
เห็นได้จากปริมาณนำเข้า-ส่งออกเมล็ดพันธุ์
ทั้งที่ได้จากการผลิตเพื่อส่งออกไปทั่วโลก
หรือนำเข้าเพื่อนำมาจำหน่ายในประเทศไทย
ประเทศข้างเคียง รวมถึงประเทศโพ้นทะเล
ด้วยเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศที่เปิดกว้าง
สำหรับผู้ประกอบการสัญชาติต่างประเทศ
ซึ่งล้วนเป็นบริษัทเมล็ดพันธุ์ระดับโลก
จากหลายประเทศ
ประเทศไทยจึงเป็นที่จับตามอง
ของผู้ประกอบการในธุรกิจเมล็ดพันธุ์
ที่เข้ามาตั้งฐานการวิจัย ผลิตและจำหน่าย
ในประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์กลาง
ของธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย

ผู้ประกอบการเหล่านี้
มาพร้อมกับเทคโนโลยีการผลิตและวิจัย
จึงมีความพยายามของผู้ประกอบการ
ในการปกป้องสายพันธุ์เมื่อออกมาทำธุรกิจ
นอกบ้าน โดยใช้กฎหมายเข้ามาบังคับใช้

ในฐานะศูนย์กลางการค้าเมล็ดพันธุ์ของโลก
ประเทศไทยก็จำต้องออกกฎหมายคุ้มครอง
เพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้กับเจ้าของสายพันธุ์
รวมถึงข้อบังคับในการประกอบธุรกิจเมล็ดพันธุ์
ในราชอาณาจักรไทย

นับเป็นโอกาสอันดีที่กล่าวได้ว่า
ด้วยกรอบของกฎหมายที่เข้มแข็ง
เพื่อปกป้องผู้ประกอบการที่สุจริต
ป้องกันผู้ประกอบการที่เห็นแก่ได้
สินค้าเมล็ดพันธุ์และวัสดุอุปกรณ์เกษตร
ที่ผ่านการรับรองของหน่วยงานราชการไทย
จึงเป็นที่ยอมรับในคุณภาพและมาตรฐาน
ของผู้ซื้อในประเทศเพื่อนบ้าน
มาตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

แนวคิดการคุ้มครองพันธุ์พืชของไทย


พืชสายพันธุ์ใหม่ ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรม
เกิดจากการคิดค้นของผู้สร้างสรรค์
ที่ทำมาด้วยความเหนื่อยยาก
ใช้งบประมาณมากมายมหาศาล
จึงเป็นการสมควรที่จะนำมาขึ้นทะเบียน
คุ้มครองสายพันธุ์
เพื่อป้องกันการลักขโมยเชื้อพันธุกรรม
นำไปผลิตแข่งขันกับผู้คิดค้นสายพันธุ์

ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ
ผู้เป็นเจ้าของสายพันธุ์จะพบปัญหา
การขโมยซื้อเมล็ดพันธุ์พร้อมจำหน่าย
ไปจนถึงการขโมยเชื้อพันธุกรรมเพื่อผลิต
ของผู้ประกอบการท้องถิ่นอยู่เนืองๆ
พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชจะเป็นเกราะป้องกัน
การโจรกรรมสายพันธุ์ และเพื่อปกป้องชื่อเสียง
ให้กับประเทศไทยที่เป็นแหล่งนำเข้า-ส่งออก
เมล็ดพันธุ์จากทั่วโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม

พ.ร.บ. ฉบับนี้จะไม่รวมถึงสายพันธุ์ท้องถิ่น
ซึ่งเป็นสายพันธุ์เปิด โดยเกษตรกรยังสามารถ
รวบรวมสายพันธุ์ท้องถิ่นเพื่อการเพาะปลูก
และเพื่อการค้าได้ตามปกติ
ด้วยเหตุผลที่ประเทศไทยถือเป็นแหล่งพันธุกรรม
ของพืชเขตร้อนแหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
นับเป็นความได้เปรียบเชิงสมบูรณ์
ของการรวบรวมพันธุกรรมเพื่อการค้า
ที่ไม่มีประเทศใดเทียบเทียม
สายพันธุ์ทั้งหมดเป็นสมบัติของแผ่นดิน
จึงไม่มีผู้ใดสามารถอ้างความเป็นเจ้าของ
แต่เพียงผู้เดียวได้
มีเพียงนักปรับปรุงพันธุ์สังกัดหน่วยงานราชการ
จะทำการคัดพันธุ์แท้เพื่อให้บริการกับประชาชน
ประชาชนที่สนใจและเกษตรกรผู้ปลูก
สามารถขอรับบริการดังกล่าวนี้ได้
โดยนำพันธุ์แท้ไปขยายในแปลงผลิต
เพื่อนำพันธุ์ขยายมาผลิตเพื่อการค้า
โดยไม่มีความผิดแต่อย่างใด

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

โอกาสการเข้าถึงสายพันธุ์ของเกษตรกรไทย


ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ
ประเทศหนึ่งของโลก
จนถึงวันนี้ จะว่ามากที่สุดในโลกก็ไม่ผิด
เพราะมีเชื้อพันธุ์ท้องถิ่นภายในประเทศ
กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศไทย
รวมทั้งพ่อแม่พันธุ์จากต่างประเทศ
ที่ถูกส่งเข้ามาผลิตในรูปของเมล็ดพันธุ์
และผลผลิตสดมากมายหลายชนิดพืช
การเข้าถึงสายพันธุ์ของเกษตรกรไทย
ก็มีมากกว่าเกษตรกรชาติอื่นๆ หลายเท่าตัว
นักผลิตพืชชาวไทยก็ได้รับการยอมรับว่า
มีความสามารถในการผลิต
เป็นอันดับต้นๆ ของโลก
เหล่านี้คือปัญหาที่พบและเป็นที่หวั่นวิตก
ของเจ้าของสายพันธุ์ที่ส่งสายพันธุ์ของตน
เข้ามาผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย
เมื่อพบสายพันธุ์ของตนถูกผลิตและจำหน่าย
โดยผู้ค้ารายอื่น
ในช่วงหลัง จึงพบว่าพันธุ์พืชใหม่หลายชนิด
มิได้ถูกส่งเข้ามาผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย
เมื่อเจ้าของพันธุ์หวั่นเกรงว่าจะเกิดการลักลอบ
นำพ่อแม่พันธุ์มาผลิตและจำหน่าย
โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของสายพันธุ์

เป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบการหลายเชื้อชาติว่า
ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์
ที่ได้คุณภาพสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ปัญหาการขโมยสายพันธุ์กลับเป็นอุปสรรค
ที่ฉุดรั้งการขยายตัวของอุตสาหกรรม
ผลิตเมล็ดพันธุ์ มิให้เติบโตไปมากกว่านี้
การจัดการปลูกในระบบปิดโดยใช้เทคโนโลยี
จึงถูกนำมาใช้ในประเทศไทย
เพื่อป้องกันการสูญหายของเชื้อพันธุกรรม
เจ้าหน้าที่เทคนิคชาวไทยในวันนี้
จึงเป็นเพียงผู้ดูแลระบบที่ใช้ในการผลิต
มากกว่าจะใช้ความรู้ในการจัดการเช่นในอดีต

มิใช่เพียงประเทศไทยที่เจ้าของสายพันธุ์
พบปัญหานี้ในการส่งส่วนขยายพันธุ์
มาผลิตเมล็ดพันธุ์ แล้วเกิดปัญหา
"โจรสลัดเมล็ดพันธุ์"
แต่เกิดขึ้นมาแล้วช้านานในหลายประเทศ
ที่เป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญของโลก

ความร่วมมือจากหลายฝ่าย
ทั้งเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์
เกษตรกรผู้นำเมล็ดพันธุ์ไปใช้งาน
ผู้ประกอบการร้านค้าจำหน่ายเมล็ดพันธุ์
พนักงานขายและส่งเสริมการขายทุกบริษัท
ประชาชนผู้บริโภคผลผลิต
ควรช่วยกันเป็นหูเป็นตา
และที่สำคัญที่สุด
ผู้ประกอบการบริษัทเมล็ดพันธุ์
ที่สามารถเข้าถึงแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์
ของเจ้าของสายพันธุ์รายอื่นได้
ควรมีความละอายต่อการกระทำผิด
ให้ความเคารพต่อกฎหมาย ข้อบังคับ
ไม่นำสายพันธุ์ของผู้อื่นมาผลิตและจำหน่าย
ในชื่อของตนเองโดยไม่ได้รับอนุญาต

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ประเทศไทยในฐานะแหล่งพันธุกรรมของโลก


เราจะสามารถใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง
จากการเป็นแหล่งพันธุกรรมอันดับโลก

รวบรวมเชื้อพันธุกรรมพืชสมุนไพร
พืชอาหารทุกชนิดมีประโยชน์ด้านโภชนาการ
ในขณะที่หลายชนิดมีประโยชน์ด้านเวชภัณฑ์
การรับประทานพืชเหล่านี้เป็นประจำ
จะช่วยสร้างภูมิต้านทานการเกิดโรคได้ดี

พืชเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ด้วยระบบรากที่ลึกของหญ้าแฝก ช่วยยึดชั้นดิน
ป้องกันการเกิดกษัยการ ชะล้างหน้าดิน
สะสมความชื้นไว้ที่ชั้นราก
สร้างความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่เพาะปลูก

ไม่เพียงเฉพาะพืช แต่รวมถึงตัวห้ำตัวเบียน
เชื้อราปฏิปักษ์ควบคุมปริมาณแมลงศัตรูพืช
ที่มีนับพันชนิดในป่าเขตร้อนของไทย

แมลงหลากชนิดเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือก
ของมวลมนุษยชาติในอนาคต

ไม้ผลเขตร้อนที่มีรสชาติเฉพาะตัว
ในวันนี้ยังไม่มีผลไม้จากแหล่งใด
ที่มีคุณภาพเทียบเคียงกับผลผลิต
จากประเทศไทยและเพื่อนบ้านในอาเซียน

ไร่นาสวนผสมพืชพรรณเขตร้อน
ระบบการปลูกที่ดีที่สุดในพื้นที่จำกัด
เพื่อสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องจากผลผลิต
ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี

หลายประเทศในเขตหนาวพยายามผลิต
อาหารในระบบปิดเพื่อให้มีผลผลิตออกทั้งปี
ประเทศไทยสามารถผลิตอาหารในระบบเปิด
ได้ตลอดทั้งปีโดยไม่ได้รับผลกระทบ
จากสภาพอากาศที่รุนแรงแต่อย่างใด

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ประสบการณ์การในการเป็นนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัทระดับโลก


ประสบการณ์ในการเป็นนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Developer)

ช่วงนี้งานเยอะมาก เลยว่างจัด ไม่รู้จะทำอะไรก่อนดี นั่งหลับๆ ตื่นๆ เลยหวนคิดถึงอดีต จะคิดถึงรักแรกก็นานจนลางเลือนเต็มที เลยเอาใกล้ๆ หน่อยดีกว่า คิดถึงงานละกัน งานที่ทำมาตลอด 10 กว่าปีนี้คงไม่พ้นงาน PD ในธุรกิจเมล็ดพันธุ์ที่เคยขี้ฝอยไปก่อนหน้านี้ไม่นาน ก่อนอื่นมารู้จักกรอบการทำงาน (Framework) ของนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ก่อน จะได้เข้าใจตรงกัน งานพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) เป็น 1 ใน 4 กิจกรรมทางการตลาดที่เรียกกันว่า Product/ Market Expansion Grid เป็นการค้นหาผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Products) มาขายในตลาดเก่า (Exist Markets) หรือตลาดที่มีอยู่แล้ว

แล้ว PD (ขอเรียกสั้นๆ เลยละกัน) ต้องทำอะไรบ้าง ส่วนใหญ่ก็ลงแปลงทดสอบสายพันธุ์ใหม่เปรียบเทียบกับสายพันธุ์ที่เป็นผู้นำในตลาด ซึ่งจะทำกันในแปลงปิด (Internal Trial) ในสภาพแวดล้อมต่างๆ จะคัดเลือกสายพันธุ์ให้กับสำนักงานขายที่ตั้งอยู่ในประเทศไหนๆ ก็ทำแบบนี้หล่ะ ดูๆ ไม่น่าจะยากใช่ไม๊ ถ้าจะเอาแค่สูสี คุณสมบัติพอๆ กัน แล้วปล่อยให้ฝ่ายขายมาหวดกันในตลาด ใช้กลยุทธ์การขายและการตลาดเข้าช่วย โดยการลด แลก แจก แถมก็ทำได้ แต่มันก็ไม่ยั่งยืน ปีนี้แถมเยอะกว่าก็ชนะ ปีไหนไม่แถมหรือแถมน้อยกว่าก็แพ้ แล้วถ้าปีไหนเกิดผลิตเมล็ดพันธุ์ไม่ได้ เมล็ดพันธุ์ไม่ผ่านคุณภาพ มีเมล็ดพันธุ์ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ก็งานเข้าเลย ขายเยอะเกินไป จนไม่พอขาย ปีนั้นก็นั่งดูคนอื่นขายไป เหตุการณ์แบบนี้มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วในธุรกิจนี้

ปรมาจารย์ PD รุ่นลายครามส่วนใหญ่ มักจะสอนน้องๆ ว่า ใจเย็นๆ ค่อยๆ เลือก อย่าเพิ่งฟันธง พอ PD รุ่นเล็กจะเถียงก็ให้ย้อนกลับไปดูสายพันธุ์ที่กำลังขายอยู่ แม่เจ้า !!! 40 ปีมาแล้ว สายพันธุ์นี้ยังขายอยู่เลย ฝ่ายผลิตก็ผลิตของเขาไปเรื่อยๆ นักปรับปรุงพันธุ์ก็เข้าๆ ออกๆ มา 2 - 3 รุ่นแล้ว นั่งอึดอัดหาวเรอ ท้องอืดท้องเฟ้อเรอเหม็นเปรี้ยวมาตั้งนานก็ยังไม่ได้ออกสายพันธุ์ใหม่ซ้ากกกกกะที ถ้าไม่ใช่เพราะฝ่ายผลิตท้วงเรื่อง Productivity Cost คือต้นทุนผลิตภาพ หรือลูกค้าเริ่มทักเรื่องสายพันธุ์ไม่ต้านทานโรค สายพันธุ์ใหม่ๆ คงไม่ได้เกิดกันละ

ที่เจอด้วยตัวเองบ่อยมาก ไม่ทราบพี่ๆ น้องๆ ท่านอื่นเจอกันบ้างไหม คือ ทำแปลงสาธิตสายพันธุ์ใหม่ (Demonstration Plot) ผิดจังหวะเวลา ไปทำแปลงพร้อมๆ กับฤดูกาลหลักที่เกษตรกรส่วนใหญ่เพาะปลูก ผลผลิตออกมาพร้อมกับคนอื่น ราคาตาย สายพันธุ์ของเราเลยกลายเป็นพันธุ์ห่วยๆ ไปเลย เพราะขายไม่ได้ราคา อย่าไปท้วงเชียวนะว่าราคามันก็ตายทั้งตลาดแหละพี่ ไม่ใช่สายพันธุ์ของผมคนเดียว จะเจอแถ เหน็บแนมให้ได้เสียใจ พาลเหม็นขี้หน้ากันไปใหญ่ แต่ถ้าโชคดี สายพันธุ์ใหม่เก็บเกี่ยวได้เร็วกว่า ก็เตรียมดังได้เลย แต่อย่าลืมเตรียมดวงไว้ด้วยนะ เก็บก่อนไม่ใช่ว่าจะได้ราคาดีกว่าเสมอไป ประเมินตลาดให้ออกด้วย เตี๊ยมกับพวกเจ๊ๆ ที่รับซื้อผลผลิตให้ดี

สำคัญที่สุด คือ ทำแปลงอย่างไรให้สายพันธุ์ของเราได้แสดงจุดเด่นที่เหนือกว่าออกมาให้เข้าตากรรมการ คือ เกษตรกรมากที่สุด จำนวนต้นก็ไม่ใช่ประเด็น ทำแปลงใหญ่ๆ เพื่อให้มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากๆ เหมือนบริษัทใหญ่ๆ เคยทำกันก็ไม่ใช่การตอบโจทย์ เพราะมันมีปัจจัยอื่นๆ อีกเยอะ เขาต้องทำกี่ไร่ กี่ฤดู ผลประโยชน์ของเกษตรกรและผู้ค้า นานแค่ไหนกว่าจะบรรลุข้อตกลง งบประมาณน้อยๆ ที่เจียดมาให้แผนกไม่พอค่ากาแฟเลี้ยงแม่ค้าที่เราต้องตระเวณเจรจาหรอก แต่ Commercial Plot 100 ต้น สามารถสร้าง Farmer Need ให้เป็น 100 กิโลกรัมภายใน 1 ปีก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าทำถูกวิธี

เครื่องมือทางการตลาดที่นักพัฒนาผลิตภัณฑ์มักจะนำมาใช้งานอยู่บ่อยๆ

Marketing Mix
Product/ Market Expansion Grid
SWOTs Analysis
Product Life Cycle > BCG Matrix
Market Positioning
Priority Chart
STP
SMEs

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2561

คนไทยกับงานวิจัยและพัฒนา ก้าวย่างที่เข้มแข็งในตลาดโลก


ในทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทเมล็ดพันธุ์ระดับโลกต่างกรีธาทัพมุ่งตรงมาที่เอเชีย ด้วยเห็นโอกาสและการเติบโตของประเทศในภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก ซึ่งรวมทั้งจีน อินเดีย และเหล่าประเทศสมาชิกในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC สิ่งแรกที่บริษัทเหล่านี้ทำคือหาข้อมูลโดยการสำรวจความต้องการของตลาด ลักษณะสายพันธุ์ที่ต้องการ ปริมาณการใช้ มูลค่าตลาด เพื่อที่จะสร้างสายพันธุ์ที่เหมาะสม สามารถตอบสนองได้ตรงกับความต้องการของตลาดมากที่สุด จึงต้องมีเจ้าหน้าที่เทคนิค ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญมาทำหน้าที่เหล่านี้ ที่เราเรียกกันว่า เจ้าหน้าที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development Specialist) หรือเรียกสั้นๆ ในวงการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ว่า PDS หรือ PD (บางบริษัทเรียก PE หรือ Product Evaluator)

เป็นที่น่าสังเกตว่า PDS Asia ที่บริษัทเหล่านี้เลือกใชับริการมักจะเป็นคนไทย คุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งนี้คือ มีประสบการณ์ทางด้านการขายหรือการตลาดเป็นอย่างดี มีทักษะทางด้านงานวิจัยและทดสอบผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญคือต้อง "สื่อสารภาษาอังกฤษได้" เพราะต้องประเมินสายพันธุ์ร่วมกับนักปรับปรุงพันธุ์ วิเคราะห์ผลิตภาพร่วมกับนักผลิตเมล็ดพันธุ์ ซึ่งทั้งหมดอาจจะเป็นชาวต่างชาติ ต้องเขียนรายงานการทดสอบ หรือเดินทางไปต่างประเทศเพื่อประเมินสายพันธุ์ในแปลงทดสอบที่ตั้งอยู่ในตลาดเป้าหมายรอบประเทศไทย หรือประชุมร่วมกับ PDS Global Team ที่ทำงานอยู่ในภูมิภาคอื่นของโลก เหตุผลหลักๆ ที่บริษัทผู้นำในธุรกิจเมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่เลือกคนไทยมาทำหน้าที่นี้เป็นเพราะประเทศไทยมีเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศที่เปิดกว้างมากที่สุด พิธีการทางศุลกากรไม่ซับซ้อน สามารถนำเข้า - ส่งออกได้ทั่วโลก รวมทั้งนโยบายต้อนรับทุนต่างชาติในทุกรัฐบาลที่ผ่านมา

จึงเป็นการง่ายที่บริษัทผู้นำในธุรกิจเหล่านี้จะได้เข้ามาตั้งสำนักงานเพื่อดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจและถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ให้กับ PDS คนไทย เพื่อส่งต่อความรู้ให้กับ PDS ท้องถิ่นที่ประจำอยู่ในแต่ละประเทศ ปัจจุบันภารกิจการพัฒนาตลาดและผลิตภัณฑ์ของ PDS Asia ชุดนี้ได้หมดลง เนื่องจากสายพันธุ์ทดสอบเหล่านี้ได้เปลี่ยนสถานะเป็นสายพันธุ์การค้าจนหมดแล้ว ยังคงไว้เฉพาะ PDS ท้องถิ่นที่เป็นคนในประเทศนั้นๆ อดีต PDS Asia บางท่านก็ยังทำงานให้กับบริษัทที่เคยทำในตำแหน่งใหม่ บางท่านก็เปลี่ยนอาชีพ ส่วนอีกหลายๆ ท่านก็เปิดกิจการของตนเอง เราจะมีโอกาสได้เห็นบุคลากรสายเลือดใหม่ในอาชีพนี้อีกครั้งในทศวรรษหน้า เมื่อครบรอบวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ก็ได้แต่หวังว่าในวันนั้นเหล่า PDS Asia จะยังคงเป็นคนไทยเหมือนที่เคยเป็น

ด้วยกระแสความตื่นตัวในเรื่องความปลอดภัยทางด้านอาหาร (Food Safety) ทศวรรษจากนี้ไปจะเป็นยุคของงานพัฒนาผลิตภัณฑ์สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความปลอดภัย เจ้าของเทคโนโลยียังคงเป็นบริษัทต่างชาติที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้ามาในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นครัวของโลก PDS รุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ จะต้องทำงานคู่ขนานไปกับเงื่อนไข ข้อบังคับของหน่วยงานความปลอดภัยทางด้านอาหารและความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงต้องมีความรู้ในเรื่องเหล่านี้ ได้แก่ GMP, HACCP, BRC, GLOBALGAP, CODEX Index, MRLs, GSPP, การจัดการศัตรูพืช และการประเมินสายพันธุ์พืช นอกเหนือจากความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านการขาย การตลาด งานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพียงเท่านั้น รวมทั้งการจัดการการปลูกที่ลดการใช้สารเคมี โดยใช้เทคนิคการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับพืช เพื่อให้พืชสามารถปกป้องตนเองจากศัตรูพืชที่เข้าทำลายและสร้างศักยภาพในการให้ผลผลิตได้ด้วยตนเอง PDS เหล่านี้จึงมีหน้าที่ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้กับเกษตรกรไทยและเกษตรกรทั่วภูมิภาคเอเชียนอกเหนือจากงานวิเคราะห์ประเมินตลาดและคัดเลือกผลิตภัณฑ์ใหม่อีกทางหนึ่งด้วย

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561

วิถีชีวิตของเกษตรกรไทย


ผมเป็นลูกหลานของเกษตรกร
จำความได้ว่า ตั้งแต่ม. 1 ผมก็อยากเรียนเกษตร
เพราะปู่ย่าของผมเป็นเกษตรกร

ไปบ้านปู่ย่าทุกครั้ง
ปู่ย่าจะเอาข้าวในยุ้งข้างบ้านที่สีมาใหม่ๆ
ให้พวกเราใส่รถกลับบ้านมากินกันทุกปี

ครอบครัวของเรามีที่ดิน 100 ไร่
ไม่ใช่เพราะร่ำรวย แต่ปู่กับย่าเป็นคนขยัน
หักร้างถางพงเพื่อทำกิน จึงมีที่ดินทำกินมากมาย
ที่ดินแทบไม่มีมูลค่า เพราะอยู่หลังเขาในป่าในดง
พ่อและพี่น้องของพ่อเรียนจบมารับใช้ชาติ
จากหยาดเหงื่อที่หยดลงบนที่ทำกินของปู่และย่า
จนถึงวันนี้ครอบครัวของพ่อไม่เคยคิดขายที่ดิน
เพราะอยากทำประโยชน์จากผืนดินที่ปู่ย่าทิ้งไว้ให้

ผมมีโอกาสเรียนจบเกษตรสมดังตั้งใจ
สละตำแหน่งงานราชการที่อาจารย์เมตตาแนะนำ
มาทำงานเอกชนเพราะคิดว่าช่วยชาติได้เหมือนกัน
มีรุ่นพี่ 2 คนเป็นต้นแบบ
คนหนึ่งให้แนวคิดการช่วยเหลือเกษตรกร
อีกคนหนึ่งให้แรงจูงใจในการทำงาน

สรุปสั้นๆ จากแนวทางที่ได้จากพี่ๆ ทั้งสอง
"ดินคือพลังชีวิตของการเกษตร ดินดี พืชผลก็งาม
นำความรู้ที่เรียนมาเหล่านี้ ช่วยเหลือเกษตรกร"

นิยามข้างต้น แฝงเคล็ดวิชาที่จะทำให้เกษตรกร
ประสบความสำเร็จในวิชาชีพ

อยากจะบอกให้รู้ เผื่อจะยังไม่รู้
เกษตรกรได้น้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
ของพระเจ้าอยู่หัวมาใช้กับชีวิตมาโดยตลอด
เกษตรกรทำนาไม่ใช่เพราะเป็นเพียงวิถีชีวิต
แต่เป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร
เมื่อมีข้าวเต็มยุ้งฉาง นั่นคือสิ่งรับประกันว่า
ปีนั้นเกษตรกรจะไม่อดตาย หลังจากหน้านา
จึงปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อสร้างรายได้
ข้าวที่เหลือจากการบริโภค จึงนำออกมาขาย
แล้วปลูกข้าวรอบใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคง
ทางด้านอาหารในปีถัดไป

ผู้ปกครองประเทศคิดเอาเองว่า
ต้องช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการห้ามทำนา
โดยไม่เข้าใจวิถีชีวิตของเกษตรกรโดยแท้จริง
เพียงเพราะคิดว่าเกษตรกรคิดไม่เป็น

ผมรู้สึกเจ็บปวดใจทุกครั้งที่รู้ว่าเกษตรกร
มักจะเป็นกลุ่มคนท้ายๆ ในห่วงโซ่สังคม
ที่คนจะนึกถึงและห่วงใย แล้วเสแสร้งว่าห่วงใย
โดยการจัดสรรต้นทุนทำกินให้กับเกษตรกร
ในรูปของสินเชื่อ มันคือการบ่มเพาะนิสัยที่ไม่ดี
และเป็นภาระที่เกษตรกรต้องแบกรับ
ถึงแม้จะไม่มีความต้องการเลยก็ตาม

รุ่นพี่ที่เคยไปเกาหลีใต้ เล่าให้ฟังว่า ที่เกาหลีใต้
มีสหกรณ์คอยจัดการผลผลิตให้กับเกษตรกร
ญี่ปุ่นมี JA ที่ช่วยเกษตรกรวางแผนบริหารจัดการ
จัดสรรปริมาณผลผลิตที่เกษตรกรต้องผลิต
ตามความต้องการของประชาชนในประเทศ
ทำไมเขาทำได้ เขาก็คิดแทนเกษตรกรเหมือนกัน
แต่เขาเอาเกษตรกรเป็นศูนย์กลางความคิด
ถ้าเกษตรกรอยู่รอด คนของเขาก็รอดทั้งประเทศ

ประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมต่อการ
ผลิตอาหาร ทำการเกษตร ประเทศหนึ่งในโลก
แต่เกษตรกรไทยกลับมีโอกาสที่จะเข้าถึง
ความมั่งคั่งน้อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ผู้บริหารประเทศที่เข้ามาตลอดช่วงที่ผ่านมา
ก็เข้ามาเพียงเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้อง
หาประโยชน์กันต่อไปเถอะ
แต่ช่วยปกป้องเกษตรกรจากคนเอาเปรียบด้วย
อย่าปล่อยให้เกษตรกรตกเป็นเครื่องมือของใคร
ถ้าไม่มีความสามารถจะช่วยเหลือเกษตรกรได้
ก็นั่งดูเฉยๆ
อยากออกข่าวเยี่ยมเยียนเกษตรกร ก็ไปเถอะ
แต่อย่าไปให้เงินเขา จนเขาเสียวินัยการเงิน
อยากจะพูดว่าจะช่วยเหลือเกษตรกร พูดไปเถอะ
แต่ไม่ต้องช่วยจริงๆ หรอก เขาดูแลตัวเองได้

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ดินดี อุดมสมบูรณ์ เพิ่มพูนผลผลิต


ปัจจัยสำคัญต่อการเพาะปลูกพืช
ทั้งในระบบพืชอินทรีย์หรือพืชปลอดภัย
คือ 'ดิน' ที่ดี

ดินที่ดี ต้องมีความอุดมสมบูรณ์
ประกอบไปด้วยธาตุอาหารพืช โครงสร้างของดิน
โปร่ง ร่วนซุย ระบายน้ำ ระบายอากาศดี
มีปริมาณสิ่งมีชีวิตในดินที่เป็นประโยชน์

การจัดการดินให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก
จะช่วยให้พืชมีความแข็งแกร่ง ต้านทานโรค
สร้างการเจริญเติบโต เพื่อสร้างผลผลิต
ได้อย่างสมบูรณ์

ปรับโครงสร้างดินด้วยสารอินทรีย์
ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยชีวภาพ
ในปริมาณที่พอเหมาะอย่างต่อเนื่อง

คลุมดินด้วยเศษซากพืช
เพื่อรักษาระดับความชื้นในแปลงปลูก
ไถกลบด้วยปุ๋ยพืชสด
เพื่อปรับโครงสร้างดินให้เหมาะสม
ต่อการเพาะปลูก

ปรับคุณสมบัติทางเคมี ความเป็นกรดด่าง
ด้วยสารตัวเติม อาทิ ปูนขาว ปูนโดโลไมท์ ยิปซั่ม
สารดังกล่าว มีส่วนช่วยให้ธาตุอาหารพืชละลาย
ออกมาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อพืชในระดับ pH ที่สมดุล
ในสารดังกล่าวยังมีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืช
อาทิ แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน

ใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่มปริมาณธาตุอาหารพืชเท่าที่จำเป็น
ไม่ให้ขาด แต่ไม่มากเกินจนแสดงอาการเป็นพิษ
ใส่ในปริมาณที่น้อย แต่บ่อยครั้ง
พืชต้องการธาตุอาหารในแต่ละช่วงเพียงระดับหนึ่ง
ไม่ได้ต้องการมากกว่าที่ต้องใช้
เพื่อสร้างการเจริญเติบโตและให้ผลผลิต
จุลินทรีย์ในดินต้องการธาตุอาหารพืชบางชนิด
เพื่อช่วยในการย่อยสลายสารอินทรีย์
เช่น ซากพืช ซากสัตว์

หมั่นส่งดินไปตรวจสอบระดับความเป็นกรดด่าง
และปริมาณธาตุอาหารพืช 3-4 ปีต่อครั้ง

ปลูกพืชที่มีระบบรากลึก แข็งแรง
เช่น ข้าวโพด หญ้าแฝก หมุนเวียนกับพืชประธาน
เพื่อลดการแข็งตัวของหน้าดินและชั้นดาน

การปรับโครงสร้างทางกายภาพ เคมี ชีวภาพ
อย่างถูกต้องและเหมาะสม
จะช่วยให้ดินในพื้นที่ปลูกของเรา
เป็นดินอุดมสมบูรณ์ (Fertile Soil)
เหมาะสมต่อการเพาะปลูกได้อย่างยั่งยืน

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2561

ทรัพย์สินบนผืนดินไทย


ทรัพย์สินบนผืนดิน

หลังจากเรียนจบออกมาทำงาน
แล้วบังเอิญได้ที่ดินมรดกจากครอบครัว
หรือตั้งใจหามาเองโดยน้ำพักน้ำแรง
ยังไม่รู้จะใช้ประโยชน์อย่างไร
เพราะผืนดินที่ครอบครองมีขนาดเล็กเหลือเกิน
หาไม้ผลยืนต้นหลากหลายชนิดมาปลูกทิ้งไว้
1 ไร่ปลูกได้ 80 ต้นโดยเฉลี่ย
1 งานปลูกได้ 16 ต้นขั้นต่ำ
ไม่นับแนวปลูกรอบแปลง

ไม้ยืนต้นรอบแปลง ควรปลูกเป็นไม้ตั้งตรง
กิ่งก้านไม่กว้างมาก ไม่ลุกล้ำพื้นที่โดยรอบ
เช่น ไผ่ สัก สะเดา มะรุม หม่อน

มีเวลาก็แวะเวียนมาดู พืชยืนต้นตายก็ซ่อม
ปล่อยให้พืชเหล่านี้เติบโตตามธรรมชาติ
ใบไม้หล่นไม่ต้องเก็บ  หญ้าขึ้นไม่ต้องตัด
เพิ่มปริมาณธาตุอาหารพืช ปรับสภาพดิน
ด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เศษซากพืชในสวน
ช่วยเหลือต้นพืชให้หาอาหารเองได้

เศษใบไม้ที่ปกคลุมผิวดิน จะช่วยรักษาความชื้นหน้าดิน
รากของวัชพืช จะช่วยรักษาระดับความชื้นในชั้นรากพืช

เศษซากพืชที่เน่าเปื่อยทับถมเกิดเป็นสารอินทรีย์
ย่อยสลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เนื้อดิน จนกระทั่งเป็นชั้นดิน

ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ปริมาณธาตุอาหารพืชสูง
ดินโปร่งร่วนซุย  รากพืชยืดยาวหาอาหารได้ดี
ระบายน้ำดี เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในดิน

มีผลผลิตออกมาก็แจกบ้าง รับประทานเองบ้าง

ความมั่นคงทางด้านอาหาร เป็นความมั่นคงที่ยั่งยืนที่สุด
ในที่นี้เจ้าของแปลงไม่ได้เป็นผู้ผลิตอาหารโดยตรง
แต่เป็นธรรมชาติที่ดูแลกันเอง เรียกได้ว่า
นี่คือ 'ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ' โดยแท้จริง

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561

กลไกของธุรกิจในประเทศไทย


ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม
ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย ประเทศไทย
ก็ยังต้องพึ่งพาการเกษตร
ด้วยความเหมาะสมของสภาพที่ตั้ง
ทางภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ  ฤดูกาล

การตัดสินใจผลิตของเกษตรกร
ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังกล่าวข้างต้น
ผลผลิตที่ได้จึงมีปริมาณและคุณภาพที่ดี
แต่ในแง่ของการตลาด พบว่าล้มเหลว
เพราะมีผลผลิตชนิดเดียวกัน
ออกมาพร้อมกันจากแหล่งผลิตทั่วประเทศ
เมื่อมีปริมาณสินค้าล้นความต้องการของตลาด
ถึงแม้สินค้าจะมีคุณภาพดีเพียงใด
ระดับราคาสินค้าก็ถูกกดให้ต่ำลงโดยปริยาย
ต่างจากผลผลิตที่เก็บเกี่ยวนอกฤดูกาล
ถึงแม้คุณภาพผลผลิตจะไม่ดีมากนัก
แต่ก็สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูง
เพราะมีปริมาณที่น้อยออกสู่ตลาด
เมื่อเทียบกับความต้องการของผู้บริโภค
แต่การผลิตผลผลิตเพื่อจำหน่ายนอกฤดูกาล
ต้องใช้เงินลงทุนเพื่อการจัดการที่สูงกว่าปกติ
เกษตรกรส่วนใหญ่จึงไม่สามารถทำได้

เกษตรกรจึงควรตัดสินใจผลิตพืช
จำนวนมากชนิดขึ้น ในพื้นที่ผลิตที่เล็กลง
เพื่อมุ่งเน้นคุณภาพของผลผลิตนอกฤดูกาล
และลดความเสี่ยงในเรื่องของราคาผลผลิต
ในรูปแบบของการเกษตรแบบประณีต

ในอนาคตอันใกล้ การผลิตพืชเชิงเดี่ยว
จะไม่ใช่หนทางสร้างความอยู่รอดอีกต่อไป
เมื่อประเทศเพื่อนบ้านเริ่มหันมาผลิตพืช
แข่งขันกับเกษตรกรไทย ด้วยต้นทุนและ
ราคาขายที่ถูกกว่า ในระดับคุณภาพที่ใกล้เคียง
การยกระดับการผลิตพืชแบบผสมผสาน
ดูจะเป็นหนทางเดียวที่ช่วยได้ในอนาคต

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2561

Seed Generation ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย


ยุคของธุรกิจเมล็ดพันธุ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
นักธุรกิจเมล็ดพันธุ์ส่วนหนึ่งที่ก้าวข้ามทศวรรษ
มาพร้อมกัน ยังพอมองเห็นความเปลี่ยนแปลง
ถ้ายังพอจดจำกันได้

Seed 1.0 สายพันธุ์ OP ครองโลก
Seed 2.0 การก้าวเข้ามาของ F1 Hybrid
Seed 3.0 Seed-Production Productivity
Seed 4.0 High-Value Seeds

และก้าวเข้าสู่ยุค

Seed 5.0 Business Merger & Acquisition

ยุค 1.0 เกษตรกรปลูกผักสายพันธุ์พื้นบ้าน
เก็บเมล็ดพันธุ์กันเอง แบ่งปัน แจกจ่ายกันแล้ว
จึงบรรจุเพื่อจำหน่าย ในยุคเดียวกันนี้เริ่มมีบริษัท
นำเข้าเมล็ดพันธุ์ OP เข้ามาจำหน่าย บรรจุลง
กระป๋องวางจำหน่ายตามร้านค้าในพื้นที่เพาะปลูก
ความหลากหลายของชนิดและสายพันธุ์มีมากขึ้น
เมื่อเกษตรกรซื้อเมล็ดพันธุ์จากร้านค้ามาปลูก
และเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ในรุ่นต่อไป

ยุค 2.0 บริษัทเมล็ดพันธุ์ระดับโลกเริ่มสยายปีก
เข้ามาสู่ภูมิภาคที่มีประชากรมากที่สุดในโลก
คือทวีปเอเชีย มากกว่า 3,000 ล้านคน
ด้วยที่ตั้งบนเส้นศูนย์สูตร
สภาพภูมิอากาศร้อนชื้นและกึ่งร้อนชื้น
ที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูงที่สุด
แห่งหนึ่งของโลก
เทคโนโลยีทางด้านการปรับปรุงพันธุ์ถูกพัฒนา
ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง มีการส่งเสริมการลงทุนให้
บริษัทต่างชาติเข้ามาดำเนินกิจการ
ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค
มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี เกิดสายพันธุ์พืชใหม่ๆ
ขึ้นมามากมาย การแข่งขันในธุรกิจ
ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างสร้างสรรค์
เกษตรกรได้รับประโยชน์จากการแข่งขันนี้
มีการพัฒนาสายพันธุ์ที่ตรงกับความต้องการ
ของตลาดมากกว่าในอดีต

ยุค 2.5 เป็นช่วงรอยต่อระหว่างยุคแห่งการพัฒนา
เมื่อเทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรม หรือ GMOs
ถูกแนะนำให้ชาวโลกรู้จักในฐานะของ 'ความหวัง'
ในการสร้างอาหารเลี้ยงประชากรโลกให้เพียงพอ
พืชอาหารหลายชนิดถูกนำเข้าสู่กระบวนการ
ตัดแต่งพันธุกรรม หรือจัดวางคู่เบสรหัสจีโนม
ของพืช และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ใหม่
ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในฐานการวิจัยพืช GMOs
บริษัทเคมีเกษตรอันดับโลกทุกบริษัทมีโปรแกรม
พืช GMOs โดยเฉพาะ 'ข้าว' พืชอาหารทึ่สำคัญ
ของคนไทยและประชากรในภูมิภาคเอเชีย

ยุค 3.0 เมล็ดพันธุ์เป็นสินค้าที่มีชีวิต
ผลิตขึ้นมาจากปัจจัยดินฟ้าอากาศ แตกต่างจาก
สินค้าชนิดอื่นที่ผลิตได้ในระบบอุตสาหกรรม
ความเสี่ยง ความไม่แน่นอน ความคลาดเคลื่อน
ที่เกิดจากสภาพดินฟ้าอากาศมีสูง ปริมาณและ
คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการผลิต
ไม่มีความแน่นอน
เทคโนโลยีการผลิตจึงถูกพัฒนาขึ้นมา
เพื่อเป็นสิ่งรับประกันว่าจะสามารถผลิตได้ตาม
ปริมาณและคุณภาพที่ต้องการ
การคัดเลือกสายพันธุ์จึงแตกต่างจากในยุคก่อน
ที่พิจารณาเฉพาะลักษณะสายพันธุ์ที่ต้องการ
เพิ่มเติมคือความคุ้มค่าของการลงทุนผลิต
สายพันธุ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาดด้วย
นักพัฒนาผลิตภัณฑ์จึงต้องพิจารณา
งานปรับปรุงพันธุ์ งานคัดเลือกสายพันธุ์
การตลาด การผลิต คู่ขนานไปพร้อมกัน
เพื่อให้คุ้มค่าต่อการลงทุนผลิต ขายสินค้าในราคา
ที่เหมาะสม คู่ค้าหรือผู้จำหน่ายสามารถทำกำไรได้

ยุค 4.0 เมล็ดพันธุ์เป็นปัจจัยการผลิตต้นน้ำที่สำคัญ
การลงทุนจึงเริ่มต้นจากคุณภาพของเมล็ดพันธุ์
ความงอกและความตรงต่อสายพันธุ์มีสูง
การประกันคุณภาพมีส่วนสำคัญต่อปัจจัยเหล่านี้
การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์แบบ Seed Count
จึงถือกำเนิดขึ้นมา ด้วยการรับประกันคุณภาพ
แบบเมล็ดต่อเมล็ด เพื่อสร้างความมั่นใจ
ให้กับเกษตรกรมืออาชีพผู้ปลูกพืชสายพันธุ์นั้น
ผู้ผลิตมีการจำกัดปริมาณการผลิตเมล็ดพันธุ์
เฉพาะสายพันธุ์ดังกล่าว และจำหน่ายในราคาที่
สูงกว่าสายพันธุ์อื่นในตลาดอย่างเด่นชัด
ผลประกอบการของบริษัทเมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่
ทำได้ดีกว่าในอดีต เมื่อจำกัดพื้นที่ผลิตเนื่องจาก
การวางแผนการผลิตทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มากยิ่งขึ้น

ยุค 4.5 จำหน่ายเมล็ดพันธุ์พร้อมองค์ประกอบ
ที่รับประกันความงอกและตรงต่อสายพันธุ์ อาทิ
เพาะต้นกล้าในวัสดุเพาะปลอดเชื้อ พืชเติบโตไว
เคลือบธาตุอาหารพืช สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
ลงบนผิวเมล็ดพันธุ์
เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโต และป้องกัน
การเข้าทำลายของโรคพืชและแมลง
ในระยะแรกของการเจริญเติบโต คือ ระยะกล้า
ได้ต้นกล้าที่แข็งแรง ปลอดโรค ความงอกดี
เจริญเติบโตดี ตรงตามสายพันธุ์

ยุค 5.0 ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ถูกผนวกเข้าไปในกิจการ
โดยเฉพาะธุรกิจเคมีเกษตรโดยการเข้าซื้อกิจการ
ด้วยองค์ประกอบที่เหมาะสมลงตัว อาทิ
เป็นธุรกิจเกษตรที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก
เชื่อมโยงสินค้าใช้งานร่วมกันได้
สัดส่วนผลกำไรของกิจการสูงเมื่อเปรียบเทียบกับ
ธุรกิจหลัก กิจการอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว
มูลค่าทางการตลาดไม่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับ
งบประมาณการเข้าซื้อกิจการเพื่อผลได้ทางภาษี
ส่วนหนึ่งพบว่า ภายหลังการเข้าซื้อกิจการ
ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ในเครือถูกลดความสำคัญลง
เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงไม่มีความเข้าใจธุรกิจ
มูลค่าธุรกิจมีขนาดเล็ก จึงถูกลดหลั่นลำดับ
ความสำคัญลงไป ผู้บริหารหน่วยธุรกิจต้องบริหาร
กิจการภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด การประเมิน
ผลสัมฤทธิ์ทำได้ยาก เนื่องจากระยะเวลาที่ใช้
ในการเข้าสู่ตลาดนานกว่ากิจการหลัก

เห็นได้ว่า ตั้งแต่ยุค 1.0 จนกระทั่งยุค 5.0
จากสินค้าไม่มีราคา หาได้ดาษดื่น แจกก็ไม่มีใครสน
มาเป็นสินค้าที่ขายแบบยกล็อต เหมาโหล
เพิ่มมูลค่าจากความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า
ในราคาที่ยอมจ่าย
จนกระทั่งสามารถขายหน่วยธุรกิจได้ในราคาที่สูง
เอาไปทำมาหากินต่อได้เลย ทั้งหมดนี้
เป็นลำดับขั้นของการเพิ่มมูลค่า (Capital Gain)
ตั้งแต่สินค้ามูลค่าต่ำจนกระทั่งเป็นองค์กรธุรกิจ
ที่บรรษัทขนาดใหญ่ซื้อกิจการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง
ของหน่วยธุรกิจที่สร้างภาพลักษณ์และผลกำไร

นับจากยุค 5.0 ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ก็ยังก้าวต่อไป
สายพันธุ์ใหม่ๆ ก็ยังถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้รองรับกับรูปแบบการผลิตในอนาคต
ในยุค 6.0 ที่กำลังจะมาถึง การคัดสายพันธุ์แท้
จากธรรมชาติโดยเกษตรกรมืออาชีพจะทวี
บทบาทความสำคัญให้กับธุรกิจมากยิ่งขึ้น
เกษตรกรรายย่อยจะสามารถเป็นเจ้าของ
สายพันธุ์แท้ได้จากการค้นหา รวบรวม คัดเลือก
คัดพันธุ์แท้ ผลิตพันธุ์ขยายและพันธุ์การค้า
เพื่อจำหน่ายในแบรนด์ของตน รวมถึงการออก
สิทธิบัตร & การคุ้มครองพันธุ์พืช
ตามพ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และ
พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542
เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน
ของกิจการขนาดเล็กแต่เข้มแข็งกว่าที่เคย

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2561

จะปลูกอะไรดี


ปัญหาโลกแตกของคนมีทุน + รักการทำการเกษตร + มีฝัน
+ ไม่มีประสบการณ์ + ไม่มี (แหล่ง) ข้อมูล + (ตัวเอง) ไม่ชัดเจน
อยากจะปลูกอะไรสัก (หลาย) อย่างที่คุ้มค่ากับการลงทุน
ทุนไม่หาย กำไรนิดหน่อย ขาดทุนไม่ว่า แค่อยากทำ
มองย้อนกลับไปที่ภาพในจินตนาการเลยครับ
แล้วตั้งเป้าว่าจะทำให้ได้แบบนั้นเป๊ะ
นั่นแหละครับคือคำตอบ ...

แต่แล้ว !!! ก็จะมีคำถามตามมาว่า แล้วมันจะคุ้มเหรอ ???
ถ้าใช้เกณฑ์คือความคุ้มค่า แนะนำให้ฝากธนาคาร สหกรณ์ออมทรัพย์
สลากออมสิน/ ธกส. พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ตราสารหนี้อื่นๆ
ผมยืนยันว่าคุ้มครับ ทุนไม่หาย กำไรนิดหน่อย ไม่มีขาดทุน

คนทำเกษตรมีเหตุผลไม่กี่ข้อ เท่าที่นึกออก
เป็นกิจการของครอบครัว ต้องการทำเป็นอาชีพ ใจรัก
สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับที่ดิน เห็นช่องทางธุรกิจแล้ว ฯลฯ
มีเหตุผลอื่นๆ มากกว่านี้ เติมคำลงในช่องว่างด้านล่างเลยนะครับ " ... "
แบ่งปันกันไปเป็นวิทยาทาน

เสี่ยงไหม ???
เสี่ยงครับ !!!
ปัจจัยแวดล้อมทุกอย่างเสี่ยง (Risk) ทั้งหมด
แล้วยังมีความไม่แน่นอน (Uncertainty) กอปรเข้าไปอีก

นอกจากฤดูกาล ดินฟ้าอากาศ รอบการระบาดของศัตรูพืช
ราคาผลผลิต กำลังซื้อของตลาด ก็ยังมีเงื่อนของเวลา
พืชทุกชนิดมีอายุการเจริญเติบโต
ผักก็เร็วหน่อย 1 - 4 เดือน
ข้าวหรือพืชไร่ก็หลายเดือน
ไม้ยืนต้นว่ากันเป็น (หลาย) ปีกว่าจะได้เก็บเกี่ยว
ถ้าใจร้อน แนะนำให้เพาะถั่วงอกครับ
ว่ากันเป็นวัน ... นานไปไหมครับ

พืชทุกชนิด ตั้งแต่เริ่มคิดจะปลูก ควักกระเป๋าตังค์จ่ายอย่างเดียวครับ
ค่าเช่า ค่าแรง วัสดุอุปกรณ์ วัตถุดิบ กว่าจะได้ทุนคืน หรือเห็นกำไร
ถ้าเจอขาใหญ่รับน้อง รอบนั้นก็ทุนหาย กำไรหด เข็ดกันไป
เคยสอบถามเกษตรกรผู้ปลูกผักหลายท่าน ทั้งชาวเขา ชาวเราพื้นราบ
ตอบตรงกันครับ ...

ปลูกผักปีละ 4 รุ่น ขาดทุนยับเละ 3 รุ่น ขอ 1 รุ่นราคาเจ๋งๆ
ต้นทุนที่หายไปได้คืนทั้งหมด กำไรหลังหักต้นทุนสำหรับปีต่อไป เหลืออีกบาน
ฟังพี่เขาเล่า อยากลาออกจากงานมันเดี๋ยวนั้นมาทำแบบพี่เขาบ้าง
ลมบนเขาพัดตึ้ง ดึงสติกลับมา เฮ่ยๆๆๆๆ ... มันไม่ใช่ทาง
แบบนี้ก็ไม่ไหวครับ  หัวใจจะวาย บางปีมากำไรรุ่นสุดท้าย
เครื่องมือที่ใช้หลักๆ คือความสม่ำเสมอ เขาไม่เลิกล้มครับ
ท้อได้ แต่ห้ามถอย ทำมันจนสำเร็จ ปีนี้ไม่ได้ ก็ว่ากันใหม่ปีหน้า

ถ้าจะถามว่าทำอย่างไรถึงจะได้รายได้ดีจากการทำการเกษตร
มีข้อแนะนำง่ายๆ แต่มีคนทำน้อย จนถึงไม่ทำกันเลย
ให้คิดต่างจากเกษตรกรท่านอื่นครับ ทำง่ายไหมครับ

ปลูกและเก็บเกี่ยวไม่พร้อมกับคนอื่น เร็วกว่า ช้ากว่า ได้หมด
ไม้ผลทำนอกฤดู ผักปลูกให้เร็วขึ้น
นี่คือการใช้ประโยชน์จากจังหวะเวลา

หาตลาดรับซื้อล่วงหน้า มีที่ขาย ราคาชัดเจน
ทีนี้ก็มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต
นี่คือการประกันความเสี่ยง

ปลูกพืชแบบ intensive farming
ในจำนวนต้น ขนาดพื้นที่ที่สามารถจัดการด้วยทรัพยากรที่มี
เรากำลังพูดถึงประสิทธิผล การเพิ่มผลผลิตต่อไร่กันครับ

ปลูกพืชแบบเชิงเดี่ยวบนพื้นที่ขนาดใหญ่ในปริมาณที่มากพอ
นี่คือแนวคิด economy of scale การประหยัดโดยขนาด
เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเต็มประสิทธิภาพ

หรือจะทำไร่นาสวนผสม
เป็นการกระจายความเสี่ยง สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง
สร้างจุดสมดุลของอุปสงค์และอุปทานให้กับผลผลิต

ปลูกพืชหมุนเวียนชนิดพืชให้ได้ทั้งปี
ทั้งพืชเศรษฐกิจและพืชบำรุงดิน
เป็นการใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่า

ปลูกพืชเฉพาะฤดูที่ให้ราคาสูง
ใช้สถิติราคาตลาดในปีที่ผ่านมาเป็นตัวกำหนด
ใช้ต้นทุนและเทคโนโลยีในการผลิตสูง
เป็นการใช้ข้อมูลทางสถิติ ความรู้ในการจัดการที่เหมาะสม

รวมกลุ่มกันปลูก
จะพืชเดี่ยวหรือหลากชนิดได้หมด เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับตลาด
แบบนี้ยากหน่อย คนไทยไม่ชำนาญการทำงานเป็นหมู่คณะ

ทำเป็นรายได้เสริมในยามว่างจากการทำงาน
เป็นการเปลี่ยนเวลาว่างให้เกิดเป็นรายได้เพิ่ม
ลดความเครียดจากรายได้หลักที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย

มีความคิดอะไรดีๆ นอกจากนี้ แบ่งปันกันได้นะครับ " ... "

ที่สำคัญ หมั่นทำการตลาดให้กับผลผลิตของท่าน
ในรูปของการให้ข้อมูล ความรู้ วิธีการปลูก วิธีการนำไปรับประทาน
ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกิจการ มาตรฐานความปลอดภัยที่ได้รับการรับรอง

ไม่ได้หวังอะไรมาก แค่ต้องการให้ท่านที่สนใจทำการเกษตร
ทำด้วยใจรัก มีความสุขกับการเฝ้ามองพืชผลที่ปลูกกับมือเจริญเติบโต
โดยไม่พะวงกับเรื่องรายได้ที่จะได้รับมากจนเกินไป

เงินซื้อความสุขได้จริง แต่ความสุขตีมูลค่าเป็นเงินไม่ได้ครับ
ปัญหาโลกแตกของคนมีทุน + รักการทำการเกษตร + มีฝัน
+ ไม่มีประสบการณ์ + ไม่มี (แหล่ง) ข้อมูล + (ตัวเอง) ไม่ชัดเจน
อยากจะปลูกอะไรสัก (หลาย) อย่างที่คุ้มค่ากับการลงทุน
ทุนไม่หาย กำไรนิดหน่อย ขาดทุนไม่ว่า แค่อยากทำ
มองย้อนกลับไปที่ภาพในจินตนาการเลยครับ
แล้วตั้งเป้าว่าจะทำให้ได้แบบนั้นเป๊ะ
นั่นแหละครับคือคำตอบ ...

แต่แล้ว !!! ก็จะมีคำถามตามมาว่า แล้วมันจะคุ้มเหรอ ???
ถ้าใช้เกณฑ์คือความคุ้มค่า แนะนำให้ฝากธนาคาร สหกรณ์ออมทรัพย์
สลากออมสิน/ ธกส. พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ตราสารหนี้อื่นๆ
ผมยืนยันว่าคุ้มครับ ทุนไม่หาย กำไรนิดหน่อย ไม่มีขาดทุน

คนทำเกษตรมีเหตุผลไม่กี่ข้อ เท่าที่นึกออก
เป็นกิจการของครอบครัว ต้องการทำเป็นอาชีพ ใจรัก
สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับที่ดิน เห็นช่องทางธุรกิจแล้ว ฯลฯ
มีเหตุผลอื่นๆ มากกว่านี้ เติมคำลงในช่องว่างด้านล่างเลยนะครับ " ... "
แบ่งปันกันไปเป็นวิทยาทาน

เสี่ยงไหม ???
เสี่ยงครับ !!!
ปัจจัยแวดล้อมทุกอย่างเสี่ยง (Risk) ทั้งหมด
แล้วยังมีความไม่แน่นอน (Uncertainty) กอปรเข้าไปอีก

นอกจากฤดูกาล ดินฟ้าอากาศ รอบการระบาดของศัตรูพืช
ราคาผลผลิต กำลังซื้อของตลาด ก็ยังมีเงื่อนของเวลา
พืชทุกชนิดมีอายุการเจริญเติบโต
ผักก็เร็วหน่อย 1 - 4 เดือน
ข้าวหรือพืชไร่ก็หลายเดือน
ไม้ยืนต้นว่ากันเป็น (หลาย) ปีกว่าจะได้เก็บเกี่ยว
ถ้าใจร้อน แนะนำให้เพาะถั่วงอกครับ
ว่ากันเป็นวัน ... นานไปไหมครับ

พืชทุกชนิด ตั้งแต่เริ่มคิดจะปลูก ควักกระเป๋าตังค์จ่ายอย่างเดียวครับ
ค่าเช่า ค่าแรง วัสดุอุปกรณ์ วัตถุดิบ กว่าจะได้ทุนคืน หรือเห็นกำไร
ถ้าเจอขาใหญ่รับน้อง รอบนั้นก็ทุนหาย กำไรหด เข็ดกันไป
เคยสอบถามเกษตรกรผู้ปลูกผักหลายท่าน ทั้งชาวเขา ชาวเราพื้นราบ
ตอบตรงกันครับ ...

ปลูกผักปีละ 4 รุ่น ขาดทุนยับเละ 3 รุ่น ขอ 1 รุ่นราคาเจ๋งๆ
ต้นทุนที่หายไปได้คืนทั้งหมด กำไรหลังหักต้นทุนสำหรับปีต่อไป เหลืออีกบาน
ฟังพี่เขาเล่า อยากลาออกจากงานมันเดี๋ยวนั้นมาทำแบบพี่เขาบ้าง
ลมบนเขาพัดตึ้ง ดึงสติกลับมา เฮ่ยๆๆๆๆ ... มันไม่ใช่ทาง
แบบนี้ก็ไม่ไหวครับ  หัวใจจะวาย บางปีมากำไรรุ่นสุดท้าย
เครื่องมือที่ใช้หลักๆ คือความสม่ำเสมอ เขาไม่เลิกล้มครับ
ท้อได้ แต่ห้ามถอย ทำมันจนสำเร็จ ปีนี้ไม่ได้ ก็ว่ากันใหม่ปีหน้า

ถ้าจะถามว่าทำอย่างไรถึงจะได้รายได้ดีจากการทำการเกษตร
มีข้อแนะนำง่ายๆ แต่มีคนทำน้อย จนถึงไม่ทำกันเลย
ให้คิดต่างจากเกษตรกรท่านอื่นครับ ทำง่ายไหมครับ

ปลูกและเก็บเกี่ยวไม่พร้อมกับคนอื่น เร็วกว่า ช้ากว่า ได้หมด
ไม้ผลทำนอกฤดู ผักปลูกให้เร็วขึ้น
นี่คือการใช้ประโยชน์จากจังหวะเวลา

หาตลาดรับซื้อล่วงหน้า มีที่ขาย ราคาชัดเจน
ทีนี้ก็มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต
นี่คือการประกันความเสี่ยง

ปลูกพืชแบบ intensive farming
ในจำนวนต้น ขนาดพื้นที่ที่สามารถจัดการด้วยทรัพยากรที่มี
เรากำลังพูดถึงประสิทธิผล การเพิ่มผลผลิตต่อไร่กันครับ

ปลูกพืชแบบเชิงเดี่ยวบนพื้นที่ขนาดใหญ่ในปริมาณที่มากพอ
นี่คือแนวคิด economy of scale การประหยัดโดยขนาด
เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเต็มประสิทธิภาพ

หรือจะทำไร่นาสวนผสม
เป็นการกระจายความเสี่ยง สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง
สร้างจุดสมดุลของอุปสงค์และอุปทานให้กับผลผลิต

ปลูกพืชหมุนเวียนชนิดพืชให้ได้ทั้งปี
ทั้งพืชเศรษฐกิจและพืชบำรุงดิน
เป็นการใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่า

ปลูกพืชเฉพาะฤดูที่ให้ราคาสูง
ใช้สถิติราคาตลาดในปีที่ผ่านมาเป็นตัวกำหนด
ใช้ต้นทุนและเทคโนโลยีในการผลิตสูง
เป็นการใช้ข้อมูลทางสถิติ ความรู้ในการจัดการที่เหมาะสม

รวมกลุ่มกันปลูก
จะพืชเดี่ยวหรือหลากชนิดได้หมด เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับตลาด
แบบนี้ยากหน่อย คนไทยไม่ชำนาญการทำงานเป็นหมู่คณะ

ทำเป็นรายได้เสริมในยามว่างจากการทำงาน
เป็นการเปลี่ยนเวลาว่างให้เกิดเป็นรายได้เพิ่ม
ลดความเครียดจากรายได้หลักที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย

มีความคิดอะไรดีๆ นอกจากนี้ แบ่งปันกันได้นะครับ " ... "

ที่สำคัญ หมั่นทำการตลาดให้กับผลผลิตของท่าน
ในรูปของการให้ข้อมูล ความรู้ วิธีการปลูก วิธีการนำไปรับประทาน
ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกิจการ มาตรฐานความปลอดภัยที่ได้รับการรับรอง

ไม่ได้หวังอะไรมาก แค่ต้องการให้ท่านที่สนใจทำการเกษตร
ทำด้วยใจรัก มีความสุขกับการเฝ้ามองพืชผลที่ปลูกกับมือเจริญเติบโต
โดยไม่พะวงกับเรื่องรายได้ที่จะได้รับมากจนเกินไป

เงินซื้อความสุขได้จริง แต่ความสุขตีมูลค่าเป็นเงินไม่ได้ครับ

Home               Content