วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ประสบการณ์การในการเป็นนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัทระดับโลก


ประสบการณ์ในการเป็นนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Developer)

ช่วงนี้งานเยอะมาก เลยว่างจัด ไม่รู้จะทำอะไรก่อนดี นั่งหลับๆ ตื่นๆ เลยหวนคิดถึงอดีต จะคิดถึงรักแรกก็นานจนลางเลือนเต็มที เลยเอาใกล้ๆ หน่อยดีกว่า คิดถึงงานละกัน งานที่ทำมาตลอด 10 กว่าปีนี้คงไม่พ้นงาน PD ในธุรกิจเมล็ดพันธุ์ที่เคยขี้ฝอยไปก่อนหน้านี้ไม่นาน ก่อนอื่นมารู้จักกรอบการทำงาน (Framework) ของนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ก่อน จะได้เข้าใจตรงกัน งานพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) เป็น 1 ใน 4 กิจกรรมทางการตลาดที่เรียกกันว่า Product/ Market Expansion Grid เป็นการค้นหาผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Products) มาขายในตลาดเก่า (Exist Markets) หรือตลาดที่มีอยู่แล้ว

แล้ว PD (ขอเรียกสั้นๆ เลยละกัน) ต้องทำอะไรบ้าง ส่วนใหญ่ก็ลงแปลงทดสอบสายพันธุ์ใหม่เปรียบเทียบกับสายพันธุ์ที่เป็นผู้นำในตลาด ซึ่งจะทำกันในแปลงปิด (Internal Trial) ในสภาพแวดล้อมต่างๆ จะคัดเลือกสายพันธุ์ให้กับสำนักงานขายที่ตั้งอยู่ในประเทศไหนๆ ก็ทำแบบนี้หล่ะ ดูๆ ไม่น่าจะยากใช่ไม๊ ถ้าจะเอาแค่สูสี คุณสมบัติพอๆ กัน แล้วปล่อยให้ฝ่ายขายมาหวดกันในตลาด ใช้กลยุทธ์การขายและการตลาดเข้าช่วย โดยการลด แลก แจก แถมก็ทำได้ แต่มันก็ไม่ยั่งยืน ปีนี้แถมเยอะกว่าก็ชนะ ปีไหนไม่แถมหรือแถมน้อยกว่าก็แพ้ แล้วถ้าปีไหนเกิดผลิตเมล็ดพันธุ์ไม่ได้ เมล็ดพันธุ์ไม่ผ่านคุณภาพ มีเมล็ดพันธุ์ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ก็งานเข้าเลย ขายเยอะเกินไป จนไม่พอขาย ปีนั้นก็นั่งดูคนอื่นขายไป เหตุการณ์แบบนี้มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วในธุรกิจนี้

ปรมาจารย์ PD รุ่นลายครามส่วนใหญ่ มักจะสอนน้องๆ ว่า ใจเย็นๆ ค่อยๆ เลือก อย่าเพิ่งฟันธง พอ PD รุ่นเล็กจะเถียงก็ให้ย้อนกลับไปดูสายพันธุ์ที่กำลังขายอยู่ แม่เจ้า !!! 40 ปีมาแล้ว สายพันธุ์นี้ยังขายอยู่เลย ฝ่ายผลิตก็ผลิตของเขาไปเรื่อยๆ นักปรับปรุงพันธุ์ก็เข้าๆ ออกๆ มา 2 - 3 รุ่นแล้ว นั่งอึดอัดหาวเรอ ท้องอืดท้องเฟ้อเรอเหม็นเปรี้ยวมาตั้งนานก็ยังไม่ได้ออกสายพันธุ์ใหม่ซ้ากกกกกะที ถ้าไม่ใช่เพราะฝ่ายผลิตท้วงเรื่อง Productivity Cost คือต้นทุนผลิตภาพ หรือลูกค้าเริ่มทักเรื่องสายพันธุ์ไม่ต้านทานโรค สายพันธุ์ใหม่ๆ คงไม่ได้เกิดกันละ

ที่เจอด้วยตัวเองบ่อยมาก ไม่ทราบพี่ๆ น้องๆ ท่านอื่นเจอกันบ้างไหม คือ ทำแปลงสาธิตสายพันธุ์ใหม่ (Demonstration Plot) ผิดจังหวะเวลา ไปทำแปลงพร้อมๆ กับฤดูกาลหลักที่เกษตรกรส่วนใหญ่เพาะปลูก ผลผลิตออกมาพร้อมกับคนอื่น ราคาตาย สายพันธุ์ของเราเลยกลายเป็นพันธุ์ห่วยๆ ไปเลย เพราะขายไม่ได้ราคา อย่าไปท้วงเชียวนะว่าราคามันก็ตายทั้งตลาดแหละพี่ ไม่ใช่สายพันธุ์ของผมคนเดียว จะเจอแถ เหน็บแนมให้ได้เสียใจ พาลเหม็นขี้หน้ากันไปใหญ่ แต่ถ้าโชคดี สายพันธุ์ใหม่เก็บเกี่ยวได้เร็วกว่า ก็เตรียมดังได้เลย แต่อย่าลืมเตรียมดวงไว้ด้วยนะ เก็บก่อนไม่ใช่ว่าจะได้ราคาดีกว่าเสมอไป ประเมินตลาดให้ออกด้วย เตี๊ยมกับพวกเจ๊ๆ ที่รับซื้อผลผลิตให้ดี

สำคัญที่สุด คือ ทำแปลงอย่างไรให้สายพันธุ์ของเราได้แสดงจุดเด่นที่เหนือกว่าออกมาให้เข้าตากรรมการ คือ เกษตรกรมากที่สุด จำนวนต้นก็ไม่ใช่ประเด็น ทำแปลงใหญ่ๆ เพื่อให้มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากๆ เหมือนบริษัทใหญ่ๆ เคยทำกันก็ไม่ใช่การตอบโจทย์ เพราะมันมีปัจจัยอื่นๆ อีกเยอะ เขาต้องทำกี่ไร่ กี่ฤดู ผลประโยชน์ของเกษตรกรและผู้ค้า นานแค่ไหนกว่าจะบรรลุข้อตกลง งบประมาณน้อยๆ ที่เจียดมาให้แผนกไม่พอค่ากาแฟเลี้ยงแม่ค้าที่เราต้องตระเวณเจรจาหรอก แต่ Commercial Plot 100 ต้น สามารถสร้าง Farmer Need ให้เป็น 100 กิโลกรัมภายใน 1 ปีก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าทำถูกวิธี

เครื่องมือทางการตลาดที่นักพัฒนาผลิตภัณฑ์มักจะนำมาใช้งานอยู่บ่อยๆ

Marketing Mix
Product/ Market Expansion Grid
SWOTs Analysis
Product Life Cycle > BCG Matrix
Market Positioning
Priority Chart
STP
SMEs

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2561

คนไทยกับงานวิจัยและพัฒนา ก้าวย่างที่เข้มแข็งในตลาดโลก


ในทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทเมล็ดพันธุ์ระดับโลกต่างกรีธาทัพมุ่งตรงมาที่เอเชีย ด้วยเห็นโอกาสและการเติบโตของประเทศในภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก ซึ่งรวมทั้งจีน อินเดีย และเหล่าประเทศสมาชิกในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC สิ่งแรกที่บริษัทเหล่านี้ทำคือหาข้อมูลโดยการสำรวจความต้องการของตลาด ลักษณะสายพันธุ์ที่ต้องการ ปริมาณการใช้ มูลค่าตลาด เพื่อที่จะสร้างสายพันธุ์ที่เหมาะสม สามารถตอบสนองได้ตรงกับความต้องการของตลาดมากที่สุด จึงต้องมีเจ้าหน้าที่เทคนิค ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญมาทำหน้าที่เหล่านี้ ที่เราเรียกกันว่า เจ้าหน้าที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development Specialist) หรือเรียกสั้นๆ ในวงการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ว่า PDS หรือ PD (บางบริษัทเรียก PE หรือ Product Evaluator)

เป็นที่น่าสังเกตว่า PDS Asia ที่บริษัทเหล่านี้เลือกใชับริการมักจะเป็นคนไทย คุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งนี้คือ มีประสบการณ์ทางด้านการขายหรือการตลาดเป็นอย่างดี มีทักษะทางด้านงานวิจัยและทดสอบผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญคือต้อง "สื่อสารภาษาอังกฤษได้" เพราะต้องประเมินสายพันธุ์ร่วมกับนักปรับปรุงพันธุ์ วิเคราะห์ผลิตภาพร่วมกับนักผลิตเมล็ดพันธุ์ ซึ่งทั้งหมดอาจจะเป็นชาวต่างชาติ ต้องเขียนรายงานการทดสอบ หรือเดินทางไปต่างประเทศเพื่อประเมินสายพันธุ์ในแปลงทดสอบที่ตั้งอยู่ในตลาดเป้าหมายรอบประเทศไทย หรือประชุมร่วมกับ PDS Global Team ที่ทำงานอยู่ในภูมิภาคอื่นของโลก เหตุผลหลักๆ ที่บริษัทผู้นำในธุรกิจเมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่เลือกคนไทยมาทำหน้าที่นี้เป็นเพราะประเทศไทยมีเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศที่เปิดกว้างมากที่สุด พิธีการทางศุลกากรไม่ซับซ้อน สามารถนำเข้า - ส่งออกได้ทั่วโลก รวมทั้งนโยบายต้อนรับทุนต่างชาติในทุกรัฐบาลที่ผ่านมา

จึงเป็นการง่ายที่บริษัทผู้นำในธุรกิจเหล่านี้จะได้เข้ามาตั้งสำนักงานเพื่อดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจและถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ให้กับ PDS คนไทย เพื่อส่งต่อความรู้ให้กับ PDS ท้องถิ่นที่ประจำอยู่ในแต่ละประเทศ ปัจจุบันภารกิจการพัฒนาตลาดและผลิตภัณฑ์ของ PDS Asia ชุดนี้ได้หมดลง เนื่องจากสายพันธุ์ทดสอบเหล่านี้ได้เปลี่ยนสถานะเป็นสายพันธุ์การค้าจนหมดแล้ว ยังคงไว้เฉพาะ PDS ท้องถิ่นที่เป็นคนในประเทศนั้นๆ อดีต PDS Asia บางท่านก็ยังทำงานให้กับบริษัทที่เคยทำในตำแหน่งใหม่ บางท่านก็เปลี่ยนอาชีพ ส่วนอีกหลายๆ ท่านก็เปิดกิจการของตนเอง เราจะมีโอกาสได้เห็นบุคลากรสายเลือดใหม่ในอาชีพนี้อีกครั้งในทศวรรษหน้า เมื่อครบรอบวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ก็ได้แต่หวังว่าในวันนั้นเหล่า PDS Asia จะยังคงเป็นคนไทยเหมือนที่เคยเป็น

ด้วยกระแสความตื่นตัวในเรื่องความปลอดภัยทางด้านอาหาร (Food Safety) ทศวรรษจากนี้ไปจะเป็นยุคของงานพัฒนาผลิตภัณฑ์สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความปลอดภัย เจ้าของเทคโนโลยียังคงเป็นบริษัทต่างชาติที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้ามาในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นครัวของโลก PDS รุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ จะต้องทำงานคู่ขนานไปกับเงื่อนไข ข้อบังคับของหน่วยงานความปลอดภัยทางด้านอาหารและความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงต้องมีความรู้ในเรื่องเหล่านี้ ได้แก่ GMP, HACCP, BRC, GLOBALGAP, CODEX Index, MRLs, GSPP, การจัดการศัตรูพืช และการประเมินสายพันธุ์พืช นอกเหนือจากความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านการขาย การตลาด งานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพียงเท่านั้น รวมทั้งการจัดการการปลูกที่ลดการใช้สารเคมี โดยใช้เทคนิคการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับพืช เพื่อให้พืชสามารถปกป้องตนเองจากศัตรูพืชที่เข้าทำลายและสร้างศักยภาพในการให้ผลผลิตได้ด้วยตนเอง PDS เหล่านี้จึงมีหน้าที่ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้กับเกษตรกรไทยและเกษตรกรทั่วภูมิภาคเอเชียนอกเหนือจากงานวิเคราะห์ประเมินตลาดและคัดเลือกผลิตภัณฑ์ใหม่อีกทางหนึ่งด้วย

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561

วิถีชีวิตของเกษตรกรไทย


ผมเป็นลูกหลานของเกษตรกร
จำความได้ว่า ตั้งแต่ม. 1 ผมก็อยากเรียนเกษตร
เพราะปู่ย่าของผมเป็นเกษตรกร

ไปบ้านปู่ย่าทุกครั้ง
ปู่ย่าจะเอาข้าวในยุ้งข้างบ้านที่สีมาใหม่ๆ
ให้พวกเราใส่รถกลับบ้านมากินกันทุกปี

ครอบครัวของเรามีที่ดิน 100 ไร่
ไม่ใช่เพราะร่ำรวย แต่ปู่กับย่าเป็นคนขยัน
หักร้างถางพงเพื่อทำกิน จึงมีที่ดินทำกินมากมาย
ที่ดินแทบไม่มีมูลค่า เพราะอยู่หลังเขาในป่าในดง
พ่อและพี่น้องของพ่อเรียนจบมารับใช้ชาติ
จากหยาดเหงื่อที่หยดลงบนที่ทำกินของปู่และย่า
จนถึงวันนี้ครอบครัวของพ่อไม่เคยคิดขายที่ดิน
เพราะอยากทำประโยชน์จากผืนดินที่ปู่ย่าทิ้งไว้ให้

ผมมีโอกาสเรียนจบเกษตรสมดังตั้งใจ
สละตำแหน่งงานราชการที่อาจารย์เมตตาแนะนำ
มาทำงานเอกชนเพราะคิดว่าช่วยชาติได้เหมือนกัน
มีรุ่นพี่ 2 คนเป็นต้นแบบ
คนหนึ่งให้แนวคิดการช่วยเหลือเกษตรกร
อีกคนหนึ่งให้แรงจูงใจในการทำงาน

สรุปสั้นๆ จากแนวทางที่ได้จากพี่ๆ ทั้งสอง
"ดินคือพลังชีวิตของการเกษตร ดินดี พืชผลก็งาม
นำความรู้ที่เรียนมาเหล่านี้ ช่วยเหลือเกษตรกร"

นิยามข้างต้น แฝงเคล็ดวิชาที่จะทำให้เกษตรกร
ประสบความสำเร็จในวิชาชีพ

อยากจะบอกให้รู้ เผื่อจะยังไม่รู้
เกษตรกรได้น้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
ของพระเจ้าอยู่หัวมาใช้กับชีวิตมาโดยตลอด
เกษตรกรทำนาไม่ใช่เพราะเป็นเพียงวิถีชีวิต
แต่เป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร
เมื่อมีข้าวเต็มยุ้งฉาง นั่นคือสิ่งรับประกันว่า
ปีนั้นเกษตรกรจะไม่อดตาย หลังจากหน้านา
จึงปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อสร้างรายได้
ข้าวที่เหลือจากการบริโภค จึงนำออกมาขาย
แล้วปลูกข้าวรอบใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคง
ทางด้านอาหารในปีถัดไป

ผู้ปกครองประเทศคิดเอาเองว่า
ต้องช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการห้ามทำนา
โดยไม่เข้าใจวิถีชีวิตของเกษตรกรโดยแท้จริง
เพียงเพราะคิดว่าเกษตรกรคิดไม่เป็น

ผมรู้สึกเจ็บปวดใจทุกครั้งที่รู้ว่าเกษตรกร
มักจะเป็นกลุ่มคนท้ายๆ ในห่วงโซ่สังคม
ที่คนจะนึกถึงและห่วงใย แล้วเสแสร้งว่าห่วงใย
โดยการจัดสรรต้นทุนทำกินให้กับเกษตรกร
ในรูปของสินเชื่อ มันคือการบ่มเพาะนิสัยที่ไม่ดี
และเป็นภาระที่เกษตรกรต้องแบกรับ
ถึงแม้จะไม่มีความต้องการเลยก็ตาม

รุ่นพี่ที่เคยไปเกาหลีใต้ เล่าให้ฟังว่า ที่เกาหลีใต้
มีสหกรณ์คอยจัดการผลผลิตให้กับเกษตรกร
ญี่ปุ่นมี JA ที่ช่วยเกษตรกรวางแผนบริหารจัดการ
จัดสรรปริมาณผลผลิตที่เกษตรกรต้องผลิต
ตามความต้องการของประชาชนในประเทศ
ทำไมเขาทำได้ เขาก็คิดแทนเกษตรกรเหมือนกัน
แต่เขาเอาเกษตรกรเป็นศูนย์กลางความคิด
ถ้าเกษตรกรอยู่รอด คนของเขาก็รอดทั้งประเทศ

ประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมต่อการ
ผลิตอาหาร ทำการเกษตร ประเทศหนึ่งในโลก
แต่เกษตรกรไทยกลับมีโอกาสที่จะเข้าถึง
ความมั่งคั่งน้อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ผู้บริหารประเทศที่เข้ามาตลอดช่วงที่ผ่านมา
ก็เข้ามาเพียงเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้อง
หาประโยชน์กันต่อไปเถอะ
แต่ช่วยปกป้องเกษตรกรจากคนเอาเปรียบด้วย
อย่าปล่อยให้เกษตรกรตกเป็นเครื่องมือของใคร
ถ้าไม่มีความสามารถจะช่วยเหลือเกษตรกรได้
ก็นั่งดูเฉยๆ
อยากออกข่าวเยี่ยมเยียนเกษตรกร ก็ไปเถอะ
แต่อย่าไปให้เงินเขา จนเขาเสียวินัยการเงิน
อยากจะพูดว่าจะช่วยเหลือเกษตรกร พูดไปเถอะ
แต่ไม่ต้องช่วยจริงๆ หรอก เขาดูแลตัวเองได้

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ดินดี อุดมสมบูรณ์ เพิ่มพูนผลผลิต


ปัจจัยสำคัญต่อการเพาะปลูกพืช
ทั้งในระบบพืชอินทรีย์หรือพืชปลอดภัย
คือ 'ดิน' ที่ดี

ดินที่ดี ต้องมีความอุดมสมบูรณ์
ประกอบไปด้วยธาตุอาหารพืช โครงสร้างของดิน
โปร่ง ร่วนซุย ระบายน้ำ ระบายอากาศดี
มีปริมาณสิ่งมีชีวิตในดินที่เป็นประโยชน์

การจัดการดินให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก
จะช่วยให้พืชมีความแข็งแกร่ง ต้านทานโรค
สร้างการเจริญเติบโต เพื่อสร้างผลผลิต
ได้อย่างสมบูรณ์

ปรับโครงสร้างดินด้วยสารอินทรีย์
ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยชีวภาพ
ในปริมาณที่พอเหมาะอย่างต่อเนื่อง

คลุมดินด้วยเศษซากพืช
เพื่อรักษาระดับความชื้นในแปลงปลูก
ไถกลบด้วยปุ๋ยพืชสด
เพื่อปรับโครงสร้างดินให้เหมาะสม
ต่อการเพาะปลูก

ปรับคุณสมบัติทางเคมี ความเป็นกรดด่าง
ด้วยสารตัวเติม อาทิ ปูนขาว ปูนโดโลไมท์ ยิปซั่ม
สารดังกล่าว มีส่วนช่วยให้ธาตุอาหารพืชละลาย
ออกมาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อพืชในระดับ pH ที่สมดุล
ในสารดังกล่าวยังมีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืช
อาทิ แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน

ใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่มปริมาณธาตุอาหารพืชเท่าที่จำเป็น
ไม่ให้ขาด แต่ไม่มากเกินจนแสดงอาการเป็นพิษ
ใส่ในปริมาณที่น้อย แต่บ่อยครั้ง
พืชต้องการธาตุอาหารในแต่ละช่วงเพียงระดับหนึ่ง
ไม่ได้ต้องการมากกว่าที่ต้องใช้
เพื่อสร้างการเจริญเติบโตและให้ผลผลิต
จุลินทรีย์ในดินต้องการธาตุอาหารพืชบางชนิด
เพื่อช่วยในการย่อยสลายสารอินทรีย์
เช่น ซากพืช ซากสัตว์

หมั่นส่งดินไปตรวจสอบระดับความเป็นกรดด่าง
และปริมาณธาตุอาหารพืช 3-4 ปีต่อครั้ง

ปลูกพืชที่มีระบบรากลึก แข็งแรง
เช่น ข้าวโพด หญ้าแฝก หมุนเวียนกับพืชประธาน
เพื่อลดการแข็งตัวของหน้าดินและชั้นดาน

การปรับโครงสร้างทางกายภาพ เคมี ชีวภาพ
อย่างถูกต้องและเหมาะสม
จะช่วยให้ดินในพื้นที่ปลูกของเรา
เป็นดินอุดมสมบูรณ์ (Fertile Soil)
เหมาะสมต่อการเพาะปลูกได้อย่างยั่งยืน

Home               Content