วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2562

Global Seed Hub

ประเทศไทยมีความเหมาะสมในการเป็น Global Seed Hub ทั้งระบบขนส่งและเงื่อนไขการนำเข้า-ส่งออกที่กำหนดโดยหน่วยงานรัฐที่มีความเข้มแข็งเป็นที่ยอมรับของผู้ส่งออกและนำเข้าเมล็ดพันธุ์ทั่วโลก เป็นที่ทราบกันดีถึงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ของด่านที่ชายแดนประเทศไทย ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางนำเข้า-ส่งออกกับคู่ค้ามากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลานับสิบปี เมล็ดพันธุ์ถือเป็นวัตถุดิบต้นน้ำทางการเกษตรมูลค่าต่ำเมื่อเทียบกับวัตถุดิบอุตสาหกรรมชนิดอื่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ครองอันดับหนึ่งมูลค่าการส่งออกมาตลอดระยะเวลายาวนาน ธุรกิจเมล็ดพันธุ์จึงขาดการเหลียวแลอย่างจริงจังจากภาครัฐมาตลอดระยะเวลา 30 ปีที่มีการก่อตั้งธุรกิจชนิดนี้ขึ้นมาในประเทศไทย

วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2562

Tomato Seed Production

มะเขือเทศเป็นพืชที่หาเลี้ยงเกษตรกรไทยผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์มาเนิ่นนาน ต้องขอขอบคุณเหล่าเกษตรกรเองที่มีความตั้งใจในการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพระดับโลกออกมาให้เป็นที่ยอมรับในระดับสูงของลูกค้าทั่วโลก จนผู้นำเข้าทั่วโลกต้องมาวางมาตรฐานคุณภาพเมล็ดพันธุ์แบบโหดๆ ออกมาเสียจนน่าเวียนหัว แต่ก็ไม่พ้นมือผู้ประกอบการและเกษตรกรชาวไทยที่ยกระดับมาตรฐานการผลิตจนใครต่อใครก็ตามไม่ทัน ส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการเกษตรชาวไทยมีงานจนล้นมือตามเป้าการผลิตที่เพิ่มขึ้นทุกปี น่าดีใจและภูมิใจแทนประเทศไทยที่วงการเกษตรไทยก้าวมาได้ถึงระดับนี้ ถึงแม้ในอีกมุมหนึ่งราคาผลผลิตเพื่อการบริโภคจะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ แต่การผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อการค้ายังนับว่าประเทศไทยยังคงเป็นผู้นำ

วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2562

Pollinator Man

'อาชีพเฉพาะ รายได้ดี ใครก็ต้องการ'

ในวงการผลิตเมล็ดพันธุ์มีอาชีพเฉพาะหนึ่งที่สำคัญ ขาดไม่ได้ หาคนมาทำอาชีพนี้ยากมาก รายได้จากความชำนาญเฉพาะนี้จึงสูงมากคือนักผสมเกสร ในปัจจุบันมีคนทำงานในสาขาเฉพาะนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณงาน เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อน ความอดทนและความเสียสละที่จะมาช่วยเหลือกิจการของผู้อื่น อุปกรณ์ที่ใช้มีเพียงคีมคีบเกสรหรือ Forceps เพียงชิ้นเดียว ผู้ชำนาญการเหล่านี้ทำงานหนักมากในช่วงเวลาอันสั้น เพียงปีละ 4 เดือนตามฤดูกาลเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์หลักๆ ในประเทศไทย เนื่องจากข้อจำกัดในด้านระยะเวลาที่เหมาะสมของการออกดอกที่ทุกบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์มักจะกำหนดฤดูกาลปลูกที่พร้อมหรือไล่เลี่ยกัน จึงเกิดปัญหาแย่งชิงตัวนักผสมเกสรกันตั้งแต่ยังไม่ก้าวขาออกจากประตูบ้านอยู่เนืองๆ
ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทยเติบโตขึ้นทุกปีแบบก้าวกระโดด เนื่องจากความต้องการเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูงจากประเทศไทยมีสูงขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ในขณะที่จำนวนนักผสมเกสรไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกับอัตราการเติบโตของธุรกิจ เหตุเพราะผู้ประกอบการไม่ได้มีความตั้งใจที่จะบ่มเพาะนักผสมเกสรหน้าใหม่กันอย่างจริงจัง ด้วยเกรงว่าจะถูกชิงตัวดังเช่นที่พบกันอยู่ในปัจจุบัน ปัญหาการขาดแคลนนักผสมเกสรที่มีความชำนาญสูงจึงยังพบและเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำดังที่เคยเกิดขึ้นเช่นในอดีตที่ผ่านมา

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

Biostimulant ที่ควรรู้จัก


สารพัดสารฉีดพ่นทางใบ
ที่พวกเรารู้จักกันดี อาทิ
ปุ๋ยทางใบ เกล็ดและน้ำ
ฮอร์โมนพืช อะมิโนอาหารพืช
สารกระตุ้น สารเร่งเชิงชีวภาพ
เหล่านี้ส่วนใหญ่รวมเรียกว่า
Biostimulants

ใช้ให้น้อย ในปริมาณที่ก่อให้เกิด
ผลต่อการเจริญเติบโตของพืช
ในการสร้างหรือยับยั้ง
ภายในระยะเวลาที่ต้องการ
การต้านทานความรุนแรง
ของการเข้าทำลายของศัตรูพืช
กระตุ้นการสร้างสารสร้างภูมิคุ้มกัน
โรค แมลง สิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม

ตัวอย่างสารฉีดพ่นทางใบยอดนิยม
กรดอะมิโน ที่เป็นที่นิยมใช้งานต่อเนื่อง
มาตลอดระยะเวลามากกว่า 30 ปีทั่วโลก
ในรูปต่างๆ กัน
ช่วยสร้างการเจริญเติบโตทางลำต้น ราก
ทนแล้ง ทนร้อน ทนหนาว ทนเค็ม ทนโรค

สารกระตุ้น สารเร่งให้เกิดความต้านทานโรค
ทนต่อความเครียดในสภาพแวดล้อม
ที่ไม่เหมาะสม

ในที่นี้กล่าวได้เพียงภาพรวม
เพราะยังมีรายละเอียดที่ต้องใช้พื้นฐานความรู้
ทางด้านปฐพีวิทยา ธาตุอาหารพืช
และสารกระตุ้นการเจริญเติบโต
มาใช้ในการอธิบายพอสมควร
ไม่ยากในการทำความเข้าใจ
หากจะนำไปใช้งาน

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ประโยชน์ของฮอร์โมนพืชต่อการผลิตไม้ดอก


ฮอร์โมนพืช (Phytohormones) หรือที่เรียกว่า
สารเสริมสร้างการเจริญเติบโตของพืช
(Plant Growth Regulators)
เป็นสารที่พืชสังเคราะห์ขึ้นมาเองตามธรรมชาติ
สร้างการเจริญเติบโตให้กับส่วนต่างๆ ของพืช
ได้แก่ รากพืช ลำต้น ตายอด ตาดอก ผลผลิต

ฮอร์โมนพืชที่มีประโยชน์ดังกล่าวต่อพืช ได้แก่

Gibberellin การยืดยาวของเซลล์พืช
Auxin ตายอดข่มตาข้าง
Cytokinin กระตุ้นการแตกตาข้าง
NAA กระตุ้นราก เปลี่ยนเพศดอก
CPPU ชักนำให้เกิดการผสมเทียม
Ethylene เร่งการสุกแก่ เกิดดอกตัวเมีย
Abscisic ยับยั้งการเจริญทางลำต้น

ฮอร์โมนพืชอีก 2 ชนิดที่พืชสังเคราะห์ขึ้นมา
เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ทนทาน ต่อต้านศัตรูพืช
และสิ่งแวดล้อมในภาวะวิกฤติให้กับต้นพืช ได้แก่

Salicylic acid พืชเจริญเติบโตดีในภาวะวิกฤติ
Jasmonic acid พืชต้านทานโรค แมลงศัตรูพืช

ปริมาณของฮอร์โมนพืชเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับ
ปริมาณของธาตุอาหารพืชที่พืชได้รับเข้าไป
การให้ธาตุอาหารพืชในระดับที่พืชต้องการ
จะช่วยให้พืชสร้างฮอร์โมนพืชเพื่อควบคุม
การเจริญเติบโตของพืชให้เป็นปกติอย่างสมบูรณ์

เกษตรกรสามารถหาซื้อฮอร์โมนพืชสังเคราะห์
ได้จากร้านค้าวัสดุอุปกรณ์การเกษตร
การใช้งานควรระมัดระวังอัตราการใช้
เพราะพืชมีความต้องการใช้งานฮอร์โมนพืช
ในปริมาณที่ไม่สูงมาก เพียงในระดับ ppm
(part per million) หรือส่วนต่อหนึ่งล้านส่วน
หากฉีดพ่นให้กับพืชในปริมาณที่มากเกินไป
จะสามารถสร้างความเสียหายให้กับต้นพืชได้

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ช่องทางอาชีพของนักผลิตไม้ดอกเพื่อการค้า


ก่อนจะปลูกพืชอะไรเพื่อขายก็ตาม
ต้องสำรวจความต้องการของตลาดเสียก่อน
ในขณะเดียวกันก็ทดสอบปลูกพืชที่สนใจไปด้วย

-เพื่อหาตลาดให้กับพืชชนิดที่เราปลูกได้ดีที่สุด-

ไม้ดอกที่นิยมในตลาด มักจะเป็นชนิดฤดูเดียว
เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดพันธุ์
เกษตรกรสามารถเลือกผลิต
ต้นกล้า (Pluck)
ต้นอ่อนชำถุง (Nursery Plant)
ไม้กระถาง (Pot Plant)
ไม้ตัดดอก (Cut Flower)
เพื่อส่งตลาดสด ร้านดอกไม้ ร้านต้นไม้ เกษตรกร
ห้างสรรพสินค้า พื้นที่จัดงานนิทรรศการ ฯลฯ

ไม้ดอกเป็นพืชที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่
ส่วนใหญ่มักจะชอบสภาพอากาศเย็น แห้งแล้ง
ไม่ทนทานต่อโรค แมลงศัตรูพืช
ไม้ดอกบางชนิดต้องการสภาพอากาศเย็นจัด
เพื่อกระตุ้นความงอกของเมล็ด เช่น Lisianthus
ไม้ดอกบางชนิด ต้องการช่วงแสงยาว เช่น
เบญจมาศ (Chrysanthemum)

การปลูกไม้ดอก ควรจะปลูกในพื้นที่ขนาดเล็ก
เกษตรกรสามารถดูแลเอาใจใส่ได้ทั่วถึง
การจัดการดังเช่นพืชล้มลุกชนิดอื่น เช่น ผัก
จะทำให้ไม่สามารถได้ผลผลิตคุณภาพดี
ในปริมาณที่เพียงพอส่งมอบให้กับตลาดได้

เกษตรกรที่มีเงินทุนเพียงพอ จึงนิยมผลิตในระบบ
โรงเรือน เพื่อป้องกันลม ฝน แมลงศัตรูพืช อีกทั้ง
สามารถควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือนให้เหมาะสม
ต่อความต้องการของชนิดไม้ดอกได้ดี

การผลิตในระบบปิดจะช่วยให้เกษตรกร
ควบคุมปัจจัยการผลิต ให้อยู่ในงบประมาณ
ที่ต้องควบคุม ช่วยลดความเสี่ยง (Risk)
ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตไม้ดอกได้

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

การจัดการธาตุอาหารพืชในการผลิตไม้ดอก


พืชทุกชนิดรวมทั้ง 'ไม้ดอก' ล้วนมีความต้องการ
ธาตุอาหารพืชเพื่อสร้างการเจริญเติบโตและการ
ให้ผลผลิตแตกต่างกันออกไป
ตามระยะการเจริญเติบโตของพืช โดยที่พืชจะมี
การสะสมอาหาร ในระยะการเจริญเติบโต
ทางลำต้น เพื่อสร้างความพร้อมในการให้ผลผลิต
และเมื่อพืชสะสมอาหารเพื่อสร้างพลังงานได้อย่าง
เพียงพอ พืชจะเริ่มออกดอก ซึ่งเป็นช่วงขยายพันธุ์
หากเกสรตัวผู้และตัวเมียผสมกันได้อย่างสมบูรณ์
ไม้ดอกจะเริ่มเข้าสี กลิ่นและขยายขนาดของดอก
เพื่อเข้าสู่ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต

หลักการให้ธาตุอาหารพืช ควรให้น้อย บ่อยครั้ง
เพิ่มปริมาณการใช้เมื่อแสดงอาการขาดแคลน
ลดปริมาณการใช้เมื่อแสดงอาการเป็นพิษ
หากใส่ธาตุอาหารพืชทางดิน ควรมีการ
ปรับความเป็นกรด-ด่างของดิน (pH)
เพื่อส่งเสริมการละลายของธาตุอาหารพืชในดิน
ออกมาให้พืชได้ใช้ประโยชน์สูงสุด
หากฉีดพ่นทางใบ ควรใช้แม่ปุ๋ยหรือปุ๋ยผสม
สูตรที่เหมาะสมกับระยะการเจริญเติบโตของพืช
อัตราการใช้ ความถี่ในการฉีดพ่น สภาพแวดล้อม
หากสภาพอากาศร้อน แล้ง ปากใบปิด
ควรงดการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ เนื่องจากสิ้นเปลือง
ธาตุอาหารพืชไม่สามารถซึมผ่านเข้าทางปากใบ
ให้เลี่ยงมาฉีดพ่นในตอนเช้ามืดที่มีอุณหภูมิต่ำ
และมีความชื้นสูง ซึ่งเป็นสภาวะที่ปากใบพืชเปิด
มีความพร้อมในการดูดซับธาตุอาหารได้สูงสุด
อีกทั้งแม่ปุ๋ยไนโตรเจนก็มีผลทำให้ใบพืชไหม้ได้

ระดับ pH ดินที่เหมาะสมต่อการปลดปล่อย
ธาตุอาหารพืชอยู่ที่ระดับ 6.5-7.0 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ
ธาตุอาหารที่พืชต้องการในช่วงเวลานั้นๆ
การมีปริมาณที่เพียงพอของธาตุหนึ่ง
อาจมีผลในการลดปริมาณของอีกธาตุหนึ่ง
หากพบอาการขาดธาตุชนิดใดชนิดหนึ่ง
ก็สามารถฉีดพ่นเสริมปุ๋ยทางใบได้เช่นกัน
การควบคุม pH ดิน ซึ่งในประเทศไทยมักจะพบ
ลักษณะดินที่มีความเป็นกรด สามารถแก้ไขได้
โดยใส่ธาตุปูนลงในดิน อาทิ
ปูนขาว ปูนมาร์ล ยิปซั่ม โดโลไมท์

ปุ๋ยอินทรีย์ก็มีส่วนสำคัญต่อการปรับ pH ในดิน
รักษาสภาพโครงสร้างของดินให้โปร่ง ร่วนซุย
ระบายน้ำดี ไม่ท่วมขัง รากพืชสามารถชอนไช
หาอาหารเพื่อสร้างการเจริญเติบโตได้ดี
รวมทั้งรักษาระดับธาตุอาหารพืชในดินมิให้ขาด
เพื่อให้เพียงพอต่อปริมาณการใช้ของพืช
ตลอดอายุการเก็บเกี่ยวในฤดูปลูก

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ลักษณะอาการขาดธาตุอาหารของพืช


อาการขาดธาตุอาหารของพืช

ไนโตรเจน (N) อาการขาด จะเจริญเติบโตช้า ใบบางมีสีเหลืองซีดทั้งแผ่น ใบต่อมากลายเป็นสีน้ำตาลและร่วงหล่น หลังจากนั้นใบด้านบนก็จะทะยอยเปลี่ยนเป็นสีเหลือง

วิธีแก้ ใช้ปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0), ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0+s) เป็นต้น

ฟอสฟอรัส (P) อาการขาด ใบล่างเริ่มเป็นสีม่วงตามแผ่นใบ ต่อมาใบเป็นสีน้ำตาลร่วงหล่น ลำต้นแคระแกร็น ไม่ผลิตดอกออกผล เนื้อไม้เปราะหักง่าย

วิธีแก้ ใส่ปุ๋ยทริปเปิล ซุเปอร์ฟอสเฟต หรือถ้าอาการไม่หนักมากใส่ ร้อคฟอสเฟต (0-3-0), ปรับ pH ของดินให้อยู่ระหว่าง 6-5 - 7, ใส่ปุ๋ยเม็ดเป็นแถบเพื่อลดพื้นที่สัมผัสระหว่างปุ๋ยฟอสเฟตกับดิน เนื่องจากดินจะตึงธาตุ P ได้ดีกว่าธาตุอื่น, เพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุให้ดินอยู่เสมอ

โพแทสเซียม (K) ใบล่างมีอาการซีดเหลืองแล้วกลายเป็นสีน้ำตาลตามขอบใบ จากนั้นลุกลามเข้ามาเป็นหย่อม ๆ ตามแผ่นใบ อาจพบว่าแผ่นใบโค้งเล็กน้อย รากเจริญเติบโตช้า ลำต้นอ่อนแอ และผลไม่โต

วิธีแก้ ในปุ๋ย โพแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) อาการขาดแคลนมักเกิดในดินทราย

แคลเซียม (Ca) อาการ ใบอ่อนหงิก ตายอดไม่เจริญเติบโต อาจมีจุดดำที่เส้นใบ รากสั้น ผลแตก และคุณภาพผลผลิตต่ำ
วิธีแก้ ใส่ปูนขาว หินปูนบด และปูนมาร์ล สำหรับดินกรด, ใส่ปุ๋ยแคลเซียมไนเตรต อาการขาดมักเกิดในดินกรด

แมกนีเซียม (Mg) อาการ ใบแก่จะเหลือง ยกเว้นเส้นใบ และใบร่วงหล่นเร็ว ต้นทรุดโทรมผลผลิตลดลง
วิธีแก้ ปรับสภาพดินให้ pH อยู่ ระหว่าง 6.5 - 7, ฉีดพ่นปุ๋ยที่มีแมกนีเซียมทางใบ ไม่มากจนเกินไป

การที่พืชมีแคลเซียมในดินมากเกินไปทำให้พืชขาดธาตุแมกนีเซียมได้ และมักขาดในดินกรด

กำมะถัน (S) อาการ ทั้งใบบน และใบล่างมีสีเหลืองซีด และต้นอ่อนแอ
วิธีแก้ ใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0+s) , ใส่ปุ๋ยอื่นๆที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ เช่นยิบซัม อาการขาดมักเกิดในดินทรายที่มีอินทรีย์วัตถุน้อย

โบรอน (B) อาการ เริ่มแรกจะพบได้ที่ยอดและใบอ่อนก่อน ตายอดตายแล้วเริ่มมีตาข้าง แต่ตาข้างจะตายอีก ลำต้นไม่ค่อยยืดตัว กิ่งและใบจึงชิดกัน ใบเล็ก หนา โค้ง และเปราะ ผลเล็กและแข็งผิดปกติ มีเปลือกหนา บางครั้งผลแตกเป็นแผลได้ สำหรับพืชจะเกิดจุดสีน้ำตาลหรือดำในส่วนต่าง ๆ ของต้น โดยเฉพาะที่หัว
วิธีแก้ ฉีดพ่นธาตุอาหารเสริมที่มี โบรอน ทางใบ เป็นวิธีที่ดีที่สุด ดินด่างอาจเป็นสาเหตุของการขาดธาตุโบรอนได้ และแสดงอาการเด่นชัดมากเมื่อกระทบแล้ง หรือขาดน้ำมาก ๆ และมักเจออาการขาดในดินที่มีอินทรีย์วัตถุต่ำ

ทองแดง (Cu) อาการ ยอดตาชะงักการเจริญเติบโตและกลายเป็นสีดำ ใบอ่อนเหลือง พืชทั้งต้นชะงักการเจริญเติบโต
วิธีแก้ ฉีดพ่นธาตุอาหารพืชที่มีธาตุทองแดงทางใบ มักขาดแคลนในดินด่าง

เหล็ก (Fe) อาการ ใบอ่อนมีสีขาวซีด ในขณะที่ใบแก่ยังเขียว ปริมาณผลผลิตลดลง ขนาดของผลเล็กและผิวไม่สวย
วิธีแก้ ฉีดพ่นธาตุอาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กทางใบ มักขาดแคลนในดินด่าง หรือเมื่อใส่ปูนมากเกินไป

แมงกานีส (Mn) อาการ ใบอ่อนมีสีเหลืองในขณะที่เส้นใบยังสีเขียว ต่อมาใบที่มีอาการดังกล่าวจะเหี่ยวและร่วงหล่น
วิธีแก้ ฉีดพ่นธาตุอาหารที่มี แมงกานีสทางใบ หากดินเป็นด่างหรือใส่ปูนขาวมากเกินไป มักทำให้ขาดธาตุแมงกานีส

โมลิบดินัม (Mo) อาการ คล้ายกับขาดไนโตรเจน (N) ใบมีลักษณะโค้งคล้ายถ้วย ปรากฎจุดเหลือง ๆ ตามแผ่นใบ
วิธีแก้ ฉีดพ่นธาตุอาหารที่มีโมลิบดินัมทางใบ มักขาดแคลนในดินที่เป็นกรด และอินทรีย์วัตถุต่ำ

สังกะสี (Zn) อาการ ใบอ่อนมีสีเหลืองซีด และปรากฎสีขาว ๆ ประปรายตามแผ่นใบ โดยเส้นใบยังเขียว รากสั้น ไม่เจริญเติบโตตามปกติ
วิธีแก้ ฉีดพ่นธาตุอาหารเสริมทางใบ ที่มีธาตุสังกะสี หากใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสฟอรัสมากเกินไป จะทำให้พืชนำธาตุสังกะสีที่ดูดได้ไปใช้ยากขึ้น

คลอรีน (Cl) อาการ พืชเหี่ยวง่าย ใบมีสีซีด และบางส่วนแห้งตาย แต่ไม่ค่อยจะแสดงอาการขาด มักจะมีอยู่ในดินอย่างเพียงพอ

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2562

สูตรคำนวณปุ๋ยสั่งตัด


การคำนวณปริมาณการใช้แม่ปุ๋ยเพื่อผลิต
ปุ๋ยสั่งตัดทำได้ง่ายๆ ตามวิธีการข้างล่างนี้

ตัวอย่างสูตรปุ๋ยที่ต้องการ 14-14-21

แม่ปุ๋ยที่เลือกใช้

Urea 46-0-0
DAP 18-46-0
MOP 0-0-60

เพื่อให้ได้ P 46 กก ต้องใช้แม่ปุ๋ย DAP 100 กก
เพื่อให้ได้ P    1 กก ต้องใช้แม่ปุ๋ย DAP (100*1)/ 46 = 2.17 กก
เพื่อให้ได้ P  14 กก ต้องใช้แม่ปุ๋ย DAP (2.17*14) = 30.43 กก

เพราะฉะนั้น ต้องใช้แม่ปุ๋ย DAP 30 กก ----- (1)

แม่ปุ๋ย DAP 100 กก มีปริมาณธาตุ N 18 กก
แม่ปุ๋ย DAP      1 กก มีปริมาณธาตุ N (18*1)/ 100 = 0.18 กก
แม่ปุ๋ย DAP   30 กก มีปริมาณธาตุ N (0.18*30) = 5.48 กก

ต้องการ N 14 กก;
ปริมาณธาตุ N ที่ติดมากับ DAP 5.48 กก
ยังขาด N (14-5.48) = 8.52 กก

เพื่อให้ได้ N 46 กก ต้องใช้แม่ปุ๋ย Urea 100 กก
เพื่อให้ได้ N    1 กก ต้องใช้แม่ปุ๋ย Urea (100*1)/ 46 = 2.17 กก
เพื่อให้ได้ N 8.52 กก ต้องใช้แม่ปุ๋ย Urea (2.17*8.52) = 18.52 กก

เพราะฉะนั้น ต้องใช้แม่ปุ๋ย Urea 19 กก ----- (2)

เพื่อให้ได้ K 60 กก ต้องใช้แม่ปุ๋ย MOP 100 กก
เพื่อให้ได้ K    1 กก ต้องใช้แม่ปุ๋ย MOP (100*1)/ 60 = 1.67 กก
เพื่อให้ได้ K 21 กก ต้องใช้แม่ปุ๋ย MOP (1.67*21) = 35 กก

เพราะฉะนั้น ต้องใช้แม่ปุ๋ย MOP 35 กก ----- (3)

ปริมาณการใช้แม่ปุ๋ย DAP 30 กก
ปริมาณการใช้แม่ปุ๋ย Urea 19 กก
ปริมาณการใช้แม่ปุ๋ย MOP 35 กก

เติม Filler; 100-(30+19+35) = 16 กก ---- (4)

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2562

การใช้ประโยชน์ปุ๋ยสั่งตัด


เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบ
เกษตรกรสามารถผสมปุ๋ยใช้เอง
ตามความต้องการของพืชในแต่ละระยะ
การเจริญเติบโต

แม่ปุ๋ยที่นิยมนำมาใช้ผสม อาทิ

46-0-0 Urea
35-0-0 Ammonium Nitrate
21-0-0 Ammonium Sulphate
15-0-0 Calcium Nitrate
18-46-0 Diammonium Phosphate
13-0-46 Potassium Nitrate
12-60-0 Monoammonium Phosphate
0-52-34 Monopotassium Phosphate
0-0-60 Potassium Phosphate
0-0-50 Potassium Sulphate

การเลือกใช้แม่ปุ๋ย ขึ้นอยู่กับความต้องการ
ธาตุอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งของพืชในช่วงเวลานั้น

เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก
เป็นสารตัวเติม (Filler) เพื่อเสริมประสิทธิภาพ
การละลายของปุ๋ยให้พืชดูดกินได้มากขึ้นด้วย

การคำนวณสูตรปุ๋ยเพื่อหาปริมาณการใช้แม่ปุ๋ย
ทำได้โดยใช้บัญญัติไตรยางค์เปรียบเทียบสัดส่วน

แม่ปุ๋ยที่นิยมใช้กันบ่อย เพราะราคาถูก หาง่าย

46-0-0
18-46-0
0-0-60

เกษตรกรสามารถเลือกใช้แม่ปุ๋ยอื่นๆ ตามความ
ต้องการ โดยดูจากธาตุอาหารรอง/ เสริมที่ได้รับ
ความหาง่ายในท้องตลาด หรือราคาต้นทุน

เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
ควรรีบนำมาใช้ทันทีภายหลังการผสม
เพื่อลดการสูญเสียปริมาณธาตุอาหารพืช
จากสภาพแวดล้อมและการเก็บรักษา

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2562

คุณประโยชน์ของธาตุอาหารพืช


ธาตุอาหารพืชแต่ละชนิดล้วนมีหน้าที่สำคัญ
ทำงานร่วมกัน สังเคราะห์ธาตุอาหารพืชชนิดอื่น
สร้างภูมิต้านทานการเกิดโรคและสภาวะเครียด
สังเคราะห์และรักษาระดับฮอร์โมนพืชที่มีหน้าที่
สร้างการเจริญเติบโต ขยายพันธุ์ เพิ่มปริมาณ
และควบคุมคุณภาพผลผลิต

คาร์บอน (C)
ไฮโดรเจน (H)
ออกซิเจน (O)

ไนโตรเจน (N)
สังเคราะห์ฮอร์โมนพืช Auxin, Cytokinin
สร้างการเจริญเติบโตทางปลายยอดและกิ่งก้าน
ควบคุมการออกดอกและการติดผลผลิต
ขยายขนาดผลผลิตในระยะเก็บเกี่ยว

ฟอสฟอรัส (P)
ถ่ายเทพลังงานที่ใช้เจริญเติบโตและขยายพันธุ์
ควบคุมการออกดอก ออกผลและการสร้างเมล็ด
เพิ่มปริมาณและทำให้รากพืชยืดยาว
พืชดึงดูดธาตุ Potassium มาใช้ได้มากขึ้น
สร้างความสามารถในการหาอาหารของรากพืช
ลำต้นพืชตระกูลข้าวแข็งแรงไม่ล้มง่าย
ช่วยให้พืชสามารถต้านทานโรคได้บางชนิด

โปตัสเซียม (K)
ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายน้ำตาลจากใบ
มาเลี้ยงดอกและบำรุงผล ช่วยให้รากพืชแข็งแรง
เพิ่มคุณภาพผลผลิต สีสัน ขนาด ความหวาน
พืชต้านทานโรคบางชนิดและดินฟ้าอากาศ

แคลเซียม (Ca)
การปฏิสนธิสมบูรณ์ ดอกพัฒนาเป็นผลและเมล็ด
ช่วยให้เมล็ดมีความงอกที่ดี
พืชต้านทานสภาวะวิกฤติ Oxidative Stress
ช่วยให้พืชนำ Nitrogen จากดิน
มาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น

แมกนีเซียม (Mg)
เป็นส่วนประกอบของส่วนที่เป็นสีเขียว
ที่มีหน้าที่สร้างอาหารและโปรตีน
สังเคราะห์กรดอะมิโน วิตามิน ไขมัน และน้ำตาล
ช่วยให้เมล็ดมีความงอกที่ดี

กำมะถัน (S)
เป็นธาตุที่เป็นองค์ประกอบในการสร้างโปรตีน
กรดอะมิโน และวิตามินที่สร้างส่วนสีเขียว
ช่วยการหายใจ และการสังเคราะห์อาหาร

เหล็ก (Fe)
สังเคราะห์ Chlorophyll รวมทั้ง ฮอร์โมนพืช
Gibberellin, Ethylene และ Jasmonic acid
ควบคุมปริมาณ IAA สร้างการเจริญทางลำต้น
ควบคุมการสุกแก่ สร้างภูมิต้านทานให้กับพืช
กระตุ้นความงอกของเมล็ด

แมงกานีส (Mn)
ควบคุมกิจกรรมของธาตุเหล็กและไนโตรเจน
สังเคราะห์ฮอร์โมนพืช Gibberellin รวมทั้งเป็น
องค์ประกอบการสร้าง IAA ในพืช สร้างช่อดอก
เรณูแข็งแรง กระตุ้นการปลดปล่อย Oxygen
ที่ใช้ในการสังเคราะห์แสง รากยืดตัวดี

ทองแดง (Cu)
เพิ่มพื้นที่ใบ สร้าง Chlorophyll สังเคราะห์แสง
เพื่อเข้าสู่ระยะใบเพสลาด ส่วนขยายพันธุ์แข็งแรง
ปฏิสนธิอย่างสมบูรณ์ เพิ่มการติดผลในพริก
ช่วยให้ดึงดูดธาตุเหล็กมาใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น
ป้องกันการเกิดโรคราและแบคทีเรียบางชนิด

สังกะสี (Zn)
สังเคราะห์ IAA กระตุ้นการยืดยาวทางลำต้น
เพิ่มพื้นที่ใบ สร้าง Chlorophyll สังเคราะห์แสง
เพื่อเข้าสู่ระยะใบเพสลาด ส่วนขยายพันธุ์แข็งแรง
ปฏิสนธิอย่างสมบูรณ์ เพิ่มปริมาณองุ่นดอกบาน
สังเคราะห์ Carbon, Oxygen เพื่อสร้างน้ำตาล
ที่ใช้ในการสังเคราะห์แสง ฉีดพ่นทางใบเพื่อ
ขยายขนาดทรงพุ่ม เพิ่มความสูงของต้น

โบรอน (B)
ควบคุมปริมาณ IAA ที่สร้างการเจริญทางลำต้น
ผนังเซลล์พืชมีความยืดหยุ่นแข็งแรง ออกดอกดี
ดอกเยอะ ดอกใหญ่ ส่วนขยายพันธุ์แข็งแรง
ส่งเสริมการทำงานร่วมกันของ Calcium-Nitrogen
และการดูดธาตุ Potassium มาใช้ประโยชน์
ส่งเสริมการย่อยโปรตีน, คาร์โบไฮเดรต
เพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสง ควบคุมการดูดและ
คายน้ำในขบวนการปรุงอาหาร ควบคุมการ
เคลื่อนย้ายน้ำตาลจากใบมาเลี้ยงดอก บำรุงผล
เพิ่มความสามารถของรากพืชในการดูด
ธาตุอาหารและการตรึงไนโตรเจน

โมลิบดีนัม (Mo)
ทำให้การการทำงานของ Nitrogen สมบูรณ์ขึ้น
ใช้ Nitrate สังเคราะห์โปรตีน สร้างส่วนสีเขียว
เกสรตัวผู้แข็งแรง พร้อมที่จะผสมกับเกสรตัวเมีย
ช่วยให้เมล็ดพืชแข็งแรง (Seed Vigor)

คลอรีน (Cl)
มีความสำคัญต่อกระบวนการสังเคราะห์แสง
ช่วยให้พืชแก่เร็วขึ้น ส่งเสริมการทำงาน
ของฮอร์โมนพืช ส่งเสริมการทำงานของ
Potassium ในการควบคุมการปิด-เปิดปากใบ

นิเกิ้ล (Ni)
เป็นสารสำคัญของเอ็นไซม์ที่ช่วยปลดปล่อย
ธาตุไนโตรเจนให้อยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ได้
เพิ่มอัตราการงอกของเมล็ดและสร้างความ
แข็งแรงให้กับต้นอ่อนพืช

ธาตุอาหารพืชอื่นๆ

ซิลิก้า (Si)
เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์พืช ขยายเซลล์
พืชเจริญเติบโต สร้างภูมิต้านทาน ป้องกัน
โรค แมลง พืชไม่หักล้มง่ายเมื่อมีการยืดตัว
อย่างรวดเร็ว ท่อน้ำเลี้ยงยืดขยายอย่างแข็งแรง
พืชทนทานต่อสภาวะอากาศที่แปรปรวน
ส่งเสริมให้ฟอสฟอรัสในดินละลายออกมาดีขึ้น

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2562

ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืช


ธาตุอาหารที่พืชนำมาใช้งาน เพื่อสร้างการ
เจริญเติบโตและให้ผลผลิต มีด้วยกัน 17 ธาตุ
แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่
ตามปริมาณความต้องการของพืช ดังนี้

ธาตุอาหารหลัก (Macro Nutrients)
ธาตุอาหารรอง (Micro Nutrients)
ธาตุอาหารเสริม (Trace Elements)

ธาตุอาหารหลัก (Macro Nutrients) 6 ธาตุ ได้แก่

คาร์บอน (C), ไฮโดรเจน (H), ออกซิเจน (O)
ไนโตรเจน (N), ฟอสฟอรัส (P), โปตัสเซียม (K)

ธาตุอาหารรอง (Micro Nutrients) 3 ธาตุ ได้แก่

แคลเซียม (Ca), แมกนีเซียม (Mg), กำมะถัน (S)

ธาตุอาหารเสริม (Trace Elements) 8 ธาตุ ได้แก่

เหล็ก (Fe), แมงกานีส (Mn), ทองแดง (Cu),
สังกะสี (Zn), โบรอน (B), โมลิบดีนัม (Mo),
คลอรีน (Cl), นิเกิ้ล (Ni)

ตลอดอายุการเจริญเติบโตของพืช
เริ่มตั้งแต่สร้างการเจริญเติบโต ขยายพันธุ์
ให้ผลผลิต รวมทั้งการสร้างความแข็งแกร่ง
ทนทาน สร้างภูมิคุ้มกันต้านทานศัตรูพืช
พืชจะขาดธาตุอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งไปไม่ได้
เพราะธาตุอาหารพืชทุกชนิดมีส่วนสำคัญในการ
สร้างองค์ประกอบทางกายภาพ เคมีและชีวภาพ
ของทุกช่วงการเจริญเติบโต

หลักการให้ธาตุอาหารพืช
ควรให้น้อยๆ บ่อยๆ ครั้ง ในปริมาณที่พอเหมาะ
ไม่ให้ขาด จนแสดงอาการขาดธาตุ
ไม่ให้เกิน จนแสดงอาการเป็นพิษ
เกษตรกรสามารถใส่ปุ๋ยอินทรีย์ทางดิน
เพื่อปรับสภาพดินให้เหมาะสมต่อการละลาย
ธาตุอาหารพืชในดินออกมาให้พืชดูดกิน
อีกทั้งในปุ๋ยอินทรีย์จะมีธาตุอาหารพืช
ครบชนิดตามความต้องการของพืช
หากไม่เพียงพอก็สามารถเพิ่มธาตุอาหารพืช
โดยการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบเสริมได้อีกด้วย

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2562

การจัดการธาตุอาหารพืชอย่างเหมาะสม


การจัดการธาตุอาหารพืชที่เหมาะสม
จะช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับพืชปลูกของเรา
อีกทั้งยังช่วยสร้างภูมิต้านทานศัตรูพืช
ได้อย่างมีประสิทธิผล

จุลธาตุหลายชนิดเป็นตัวชักนำ
ให้เกิด "ฮอร์โมนพืช" ในกลุ่ม
"ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช"
(Plant Growth Regulators) ได้แก่
Auxin, Gibberellin, Cytokinin, Ethylene
รวมทั้งสารสร้างภูมิต้านทานการเกิดโรคพืช
ได้แก่ Salicylic acid, Jasmonic acid เป็นต้น

จุลธาตุเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างความสามารถ
ในการให้ผลผลิต โดยสร้างความแข็งแรง
ให้กับดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย เพื่อสร้าง
ผลผลิตที่มีคุณภาพในปริมาณที่ต้องการ

จุลธาตุบางชนิดยังมีส่วนสำคัญ
ในการช่วยลดความเครียดให้กับพืช
ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย

สารกระตุ้นชีวภาพ (Biostimulants)
ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างความแข็งแรง
และเพิ่มผลผลิตให้กับพืชผลอย่างมีนัยสำคัญ

การให้ธาตุอาหารพืชทางดิน
จะให้ประสิทธิผลในการดูดเพื่อนำไปใช้สูงที่สุด
โดยรากพืชจะทำหน้าที่ดูดกินธาตุอาหารจากดิน
เพื่อนำไปสร้างการเจริญเติบโตอย่างสมดุล

ในสภาพดินทั่วไปที่มีผลิตภาพไม่เท่าเทียมกัน
การใส่สารปรับปรุงดินที่มากหรือน้อยเกินไป
ล้วนมีผลกระทบต่อการละลายของธาตุอาหารพืช
ให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์และพืชนำไปใช้ได้
การฉีดพ่นทางใบจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสม
ในสภาวะแวดล้อมที่ยากต่อการควบคุม
โดยใช้หลักการให้ธาตุอาหารพืช
เท่าที่พืชจำเป็นต้องใช้
น้อยๆ บ่อยๆ ครั้ง
ต่อเนื่อง ยาวนาน

สิ่งที่ได้คือ ผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น
พืชมีความแข็งแรง ต้านทานโรค แมลงศัตรูพืช
มีศักยภาพที่ให้ผลผลิตในปริมาณสูง  ต่อเนื่อง

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2562

บทบาทของธาตุอาหารพืช


พืชเจริญเติบโตจากการได้รับธาตุอาหารพืช
เพื่อนำมาสร้างส่วนต่างๆ ของลำต้นพืช
รวมทั้งสารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโต

พืชทุกชนิด แบ่งการเจริญเติบโตออกเป็น 3 ช่วง

เจริญเติบโตทางลำต้น
ขยายพันธุ์ (ออกดอก)
เก็บเกี่ยวผลผลิต

พืชจะนำธาตุอาหารทั้ง 17 ชนิดมาใช้ใน
ทุกระยะการเจริญเติบโต ปริมาณการใช้
ธาตุอาหารพืชแต่ละชนิดจะมากหรือน้อย
ขึ้นอยู่กับความต้องการธาตุอาหารของพืช
ในระยะการเจริญเติบโตนั้นๆ

ระยะต้นกล้า
รากพืชเป็นส่วนสำคัญต่อการดำรงชีวิต
ของต้นพืชตลอดอายุการเก็บเกี่ยว ระยะนี้จึงควร
สร้างและบำรุงรากพืชให้แข็งแรง หาอาหารเก่ง
ธาตุอาหารพืชที่จำเป็นในระยะนี้ ได้แก่
ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปตัสเซียม
เหล็ก แมงกานีส สังกะสี โบรอน

ระยะเจริญเติบโตทางลำต้น
ลำต้นจะยืดยาว แตกกิ่งก้าน ใบ
พืชสร้างและสะสมอาหารจากการสังเคราะห์แสง
เพื่อใช้ในการขยายพันธุ์และสร้างผลผลิตต่อไป
ธาตุอาหารที่พืชจำเป็นต้องใช้ ได้แก่
ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปตัสเซียม แม็กนีเซียม
เหล็ก แมงกานีส สังกะสี ทองแดง

ระยะออกดอก
พืชจะออกดอกก็ต่อเมื่อพืชเข้าสู่ระยะวิกฤติ
มีความสมบูรณ์ แข็งแรง มีธาตุอาหารพืชสะสม
เพียงพอต่อการเข้าสู่ระยะขยายพันธุ์
การจะเข้าสู่ระยะนี้ได้ ต้องมีการสะสมธาตุอาหาร
ดังต่อไปนี้
ฟอสฟอรัส แคลเซียม
เหล็ก โมลิบดีนัม สังกะสี ทองแดง โบรอน

ระยะให้ผลผลิต
ไม้ดอกจะขยายขนาด สีและกลิ่นจะเข้มข้นขึ้น
เพื่อให้เข้าสู่สภาพที่พร้อมเก็บเกี่ยว ต้นพืชจึงควร
สะสมธาตุอาหารพืชดังต่อไปนี้อย่างเพียงพอ
ไนโตรเจน โปตัสเซียม แคลเซียม แม็กนีเซียม
เหล็ก โบรอน

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2562

ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช


ในจำนวนธาตุอาหารที่พืชจำเป็นต้องใช้เพื่อการเจริญเติบโตออกดอก ออกผล ซึ่งมีอยู่ 16 ธาตุนั้น มี 3 ธาตุ ที่พืชได้มาจากอากาศและน้ำ คือ คาร์บอน ( C) ไฮโดรเจน (H) และออกซิเจน (O) ส่วนอีก 13 ธาตุนั้น พืชต้องดูดดึงขึ้นมาจากดิน ซึ่งธาตุเหล่านี้ได้มาจากการผุพงสลายตัวของส่วนที่เป็นอนินทรียวัตถุและอินทรียวัตถุหรือฮิวมัสในดิน สามารถแบ่งตามปริมาณที่พืชต้องการใช้ได้ เป็น 2 กลุ่มคือ มหธาตุ และจุลธาตุ

1. มหธาตุ (macronutrients)

    มหธาตุหรือธาตุอาหารที่พืชต้องการใช้ในปริมาณมาก ที่ได้มาจากดินมีอยู่ 6 ธาตุ ได้แก่ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) และกำมะถัน (S) แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม


ธาตุอาหารหลัก หรือ ธาตุปุ๋ย ได้แ่ก่ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) เนื่องจากสามธาตุนี้พืชต้องการใช้ในปริมาณมาก แต่มักจะได้รับจากดินไม่ค่อยเพียงพอกับความต้องการ ต้องช่วยเหลือโดยใส่ปุ๋ยอยู่เสมอ


ธาตุอาหารรอง ได้แก่ แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) และกำมะถัน (S) เป็นกลุ่มที่พืชต้องการใช้ในปริมาณที่น้อยกว่า และไม่ค่อยมีปัญหาขาดแคลนในดินทั่วๆ ไปเหมือนสามธาตุแรก

2. จุลธาตุ หรือ ธาตุอาหารเสริม (micronutrients)

     จุลธาตุหรือธาตุอาหารที่พืชต้องการใช้ในปริมาณน้อย มีอยู่ 7 ธาตุ ได้แก่ เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) โบรอน (B) โมลิบดินัม (Mo) ทองแดง (Cu) สังกะสี (Zn) และคลอรีน (Cl)

     อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นธาตุอาหารในกลุ่มมหธาตุหรือจุลธาตุ ต่างก็มีความสำคัญและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะความจริงแล้วธาตุทุกธาตุมีความสำคัญต่อการดำรงชีพของพืชเท่าๆ กัน จะต่างกันแต่เพียงปริมาณที่พืชต้องการเท่านั้น ดังนั้นพืชจึงขาดธาตุใดธาตุหนึ่งไม่ได้ หากพืชขาดธาตุอาหารแม้แต่เพียงธาตุเดียวพืชจะหยุดการเจริญเติบโต แคระแกร็น ไม่ให้ผลผลิตและตายในที่สุด


        หน้าที่ของธาตุอาหารพืช

       ธาตุอาหารพืชแต่ละชนิดมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชแตกต่างกันไป และถ้าพืชได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการ ก็จะแสดงอาการที่แตกต่างกันตามแต่ชนิดของธาตุอาหารที่ขาดแคลนนั้น


        ไนโตรเจน มีหน้าที่เป็นส่วนประกอบของโปรตีน ช่วยให้พืชมีสีเขียว เร่งการเจริญเติบโตทางใบ หากพืชขาดธาตุนี้จะแสดงอาการใบเหลือง ใบมีขนาดเล็กลง ลำต้นแคระแกร็นและให้ผลผลิตต่ำ

        ฟอสฟอรัส มีหน้าที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของราก ควบคุมการออกดอก ออกผล และการสร้างเมล็ด ถ้าพืชขาดธาตุนี้ระบบรากจะไม่เจริญเติบโต ใบแก่จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วงแล้วกลายเป็นสีน้ำตาลและหลุดร่วง ลำต้นแกร็นไม่ผลิดอกออกผล

        โพแทสเซียม เป็นธาตุที่ช่วยในการสังเคราะห์น้ำตาล แป้ง และโปรตีน ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายน้ำตาลจากใบไปสู่ผล ช่วยให้ผลเติบโตเร็วและมีคุณภาพดี ช่วยให้พืชแข็งแรง ต้านทานต่อโรคและแมลงบางชนิด ถ้าขาดธาตุนี้พืชจะไม่แข็งแรง ลำต้นอ่อนแอ ผลผลิตไม่เติบโต มีคุณภาพต่ำ สีไม่สวย รสชาติไม่ดี

        แคลเซียม เป็นองค์ประกอบที่ช่วยในการแบ่งเซลล์ การผสมเกสร การงอกของเมล็ด พืชขาดธาตุนี้ใบที่เจริญใหม่จะหงิกงอ ตายอดไม่เจริญ อาจมีจุดดำที่เส้นใบ รากสั้น ผลแตก และมีคุณภาพไม่ดี

        แมกนีเซียม เป็นองค์ประกอบสำคัญของคลอโรฟิลล์ ช่วยสังเคราะห์กรดอะมิโน วิตามิน ไขมัน และน้ำตาล ทำให้สภาพกรดด่างในเซลล์พอเหมาะและช่วยในการงอกของเมล็ด ถ้าขาดธาตุนี้ใบแก่จะเหลือง ยกเว้นเส้นใบ และใบจะร่วงหล่นเร็ว

        กำมะถัน เป็นองค์ประกอบสำคัญของกรดอะมิโน โปรตีน และวิตามิน ถ้าขาดธาตุนี้ทั้งใบบนและใบล่างจะมีสีเหลืองซีด และต้นอ่อนแอ

        โบรอน ช่วยในการออกดอกและการผสมเกสร มีบทบาทสำคัญในการติดผลและการเคลื่อนย้ายน้ำตาลมาสู่ผล การเคลื่อนย้ายของฮอร์โมน การใช้ประโยชน์จากไนโตรเจนและการแบ่งเซลล์ ถ้าพืชขาดธาตุนี้ ตายอดจะตายแล้วเริ่มมีตาข้าง แต่ตาข้างก็จะตายอีก ลำต้นไม่ค่อยยืดตัว กิ่งและใบจึงชิดกัน ใบเล็ก หนา โค้งและเปราะ

        ทองแดง ช่วยในการสังเคราะห์คลอโรฟิลล์ การหายใจ การใช้โปรตีนและแป้ง กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์บางชนิด ถ้าพืชขาดธาตุนี้ ตายอดจะชะงักการเจริญเติบโตและกลายเป็นสีดำ ใบอ่อนเหลือง และพืชทั้งต้นจะชะงักการเจริญเติบโต

        คลอรีน มีบทบาทบางประการเกี่ยวกับฮอร์โมนในพืช ถ้าขาดธาตุนี้พืชจะเหี่ยวง่าย ใบสีซีด และบางส่วนแห้งตาย

        เหล็ก ช่วยในการสังเคราะห์คลอโรฟิลล์ มีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์แสงและหายใจ ถ้าขาดธาตุนี้ใบอ่อนจะมีสีขาวซีดในขณะที่ใบแก่ยังเขียวสด

        แมงกานีส ช่วยในการสังเคราะห์แสงและการทำงานของเอนไซม์บางชนิด ถ้าขาดธาตุนี้ใบอ่อนจะมีสีเหลืองในขณะที่เส้นใบยังเขียว ต่อมาใบที่มีอาการดังกล่าวจะเหี่ยวแล้วร่วงหล่น

        โมลิบดินัม ช่วยให้พืชใช้ไนโตรเจนให้เป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์โปรตีน ถ้าขาดธาตุนี้พืชจะมีอาการคล้ายขาดไนโตรเจน ใบมีลักษณะโค้งคล้ายถ้วย ปรากฏจุดเหลืองๆ ตามแผ่นใบ

        สังกะสี ช่วยในการสังเคราะห์ฮอร์โมนออกซิน คลอโรฟิลล์ และแป้ง ถ้าขาดธาตุนี้ใบอ่อนจะมีสีเหลืองซีดและปรากฏสีขาวๆ ประปรายตามแผ่นใบ โดยเส้นใบยังเขียว รากสั้นไม่เจริญตามปกติ

       เมื่อมีการปลูกพืชลงบนดิน ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณของธาตุอาหารต่างๆ ที่มีอยู่ในดิน เนื่องจากในขณะที่พืชมีการเจริญเติบโต พืชจะดูดดึงธาตุอาหารในดินไปใช้และเก็บสะสมไว้ในส่วนต่างๆ ได้แก่ ใบ ลำต้น ดอก ผล จนถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตและนำออกไปจากพื้นที่ ธาตุอาหารที่สะสมอยู่เหล่านั้นย่อมถูกนำออกไปจากพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ธาตุอาหารบางส่วนยังเกิดการสูญหายไปในรูปก๊าซ ถูกดินหรือสารประกอบในดินจับยึดไว้ บางส่วนถูกชะล้างออกไปจากบริเวณรากพืช หรือสูญเสียไปกับการชะล้างพังทลายของดิน

       ดังนั้นการเพาะปลูกพืชติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน โดยไม่มีการเติมธาตุอาหารลงไปในดิน ย่อมทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง และในที่สุดดินจะกลายเป็นดินเลวปลูกพืชไม่เจริญเติบโตอีกต่อไป ในการปลูกพืชจึงต้องมีการใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงดิน ช่วยเพิ่มธาตุอาหารพืชและคงระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินไว้อยู่เสมอ


         อ่านต่อ....ปุ๋ยและการใช้ปุ๋ย >>>

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเอกสาร ...

คณาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา. 2541. ปฐพีวิทยาเบื้องต้น . ภาควิชาปฐพีวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ.

Yara (Thailand) Ltd. ABC Guide to Mineral Fertilizers : A Basic Handbook on Fertilizers and Their Use. 28 p.

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2562

การป้องกันกำจัดโรคใบจุดในดาวเรือง


"โรคใบจุด" หรือ Early Blight สามารถเกิดได้
ในสภาพอากาศ 'ร้อนและมีความชื้นสูง'
ดังเช่นสภาวะอากาศในประเทศไทย

โรคพืชในกลุ่ม Early Blight ที่พบการระบาด
อยู่เป็นประจำในแปลงปลูก 'ดาวเรือง' รวมทั้ง
พืชผักเศรษฐกิจอีกหลายชนิด อาทิ

Alternaria Leaf Spot

โรคพืชในกลุ่มนี้จะแสดงอาการแตกต่างกันไป
ตามชนิดของเชื้อสาเหตุ ลักษณะที่มีร่วมกันคือ
เกิดอาการเป็นจุดมีวงรอบ มีขอบแผลที่ชัดเจน
พบสปอร์ราใต้ใบเมื่ออากาศมีความชื้นสูง

ควบคุมโรคโดยการฉีดพ่นสาร Mancozeb,
Carbendazim หรือ Propineb สัปดาห์ละครั้ง
ตั้งแต่ระยะกล้า จนกระทั่งเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ
สารป้องกันการเกิดโรคพืชเหล่านี้มีราคาไม่แพง
เมื่อเปรียบเทียบกับสารกำจัดฯ ที่มี efficacy สูง
ตัวอย่างเช่น

Azoxystrobin - Amistar (11)
Kresoxim-methyl - Stroby (11)
Myclobutanil - Cysten 24E (3)
Procymidone - Sumilex (2)
Propineb - Antracol (M)
Pyraclostrobin - Headline (11)
Tridemorph - Calixin (5)
Trifloxystrobin - Flint (11)
Triforine - Saprol (3)

* ชื่อสามัญ - ชื่อการค้า (กลุ่มสารที่จำแนก
ในระบบ FRAC MOA Classification)

'การป้องกัน' ช่วยลดความเสียหายของผลผลิต
สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตในปริมาณที่มากกว่า
'การกำจัด' ในระยะหลังการเข้าทำลายของโรค
มากกว่าร้อยละ 40 ของผลผลิตรวม

อย่ารอให้เกิดการระบาดของโรคพืชแล้วจึงลงมือ
โรคพืชในยุคปัจจุบันมีการปรับตัวให้สามารถ
เข้าทำลายในสภาพแวดล้อมที่ยืดหยุ่นกว่าที่เคย
'การป้องกันการเกิดโรคพืช' เป็นหนทางเดียว
ที่จะควบคุมและรักษาระดับปริมาณผลผลิต
เอาไว้ได้ในเชิงเศรษฐกิจ

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2562

การป้องกันกำจัดโรคใบไหม้ในดาวเรือง


"ดาวเรือง" เป็นพืชในวงศ์ Compositae
พบว่ามีโรคพืชที่สำคัญคล้ายคลึงกับ
พืชในตระกูล Solanaceae
ได้แก่ พริก มะเขือ และมันฝรั่ง
โรคที่มักพบในแปลงปลูกดาวเรือง อาทิ ใบไหม้
ใบจุด ดอกเน่า ก้านเน่า ไส้กลวง เหี่ยวเขียว
การป้องกันกำจัด จึงควรปฏิบัติเช่นเดียวกัน

ควบคุมโรคทางดินด้วยเชื้อรา
Trichoderma harzianum
ควบคุมโรคทางใบด้วยเชื้อแบคทีเรีย
Bacillus subtillis
หรือป้องกันการเกิดโรคด้วยการฉีดพ่นสาร
Mancozeb อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระยะย้ายปลูก
จนกระทั่งเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในฤดูกาลนั้น
หากเริ่มพบการระบาด ให้สลับมาฉีดพ่นสาร
Carbendazim และ Propineb ตามลำดับ

อาการ 'ใบไหม้' หรือ Late Blight เกิดจาก
เชื้อรา Phytophthora infestans มักจะพบ
ในสภาพอากาศ 'หนาวเย็นและมีความชื้นสูง'
สามารถเกิดได้ทุกสภาพพื้นที่
หรือแม้กระทั่งในพื้นที่เขตร้อน ซึ่งมีอุณหภูมิ
กลางวัน-กลางคืนต่างกันมากกว่า 15 'C
รวมทั้งในแหล่งปลูกที่มีการสะสมของเชื้อสาเหตุ
ซึ่ง pH ของดินมักจะต่ำกว่า 5.5 ลงไป
เชื้อราชนิดนี้อาศัยอยู่ในดินได้เป็นระยะเวลานาน
อาการที่พบ ใบจะมีสีดำเป็นวงกว้าง ไม่มีสัณฐาน
ไม่พบสปอร์ราที่ใต้ใบ เชื้อสามารถลุกลามไปได้
ทั่วทั้งลำต้นและพื้นที่อับชื้นในบริเวณทรงพุ่ม
เกษตรกรจึงควรตัดแต่งกิ่งที่ไม่มีประโยชน์
ในระหว่างและภายหลังการเก็บเกี่ยวทุกครั้ง
เพื่อป้องกันการระบาดของโรคในแปลงปลูก

หากพบการระบาดรุนแรง ไม่สามารถควบคุมได้
ควรถอนต้นทิ้ง เพื่อนำไปเผาไฟ ไม่ควรกลบฝัง
เพราะเชื้อสาเหตุสามารถเคลื่อนที่ไปกับน้ำได้
ทั้งยังจะสะสมอยู่ในพื้นที่ปลูกและรอบแปลง

เกษตรกรหมั่นตรวจ pH ดิน ให้อยู่ระดับ 6.5-7
หว่านปุ๋ยอินทรีย์ โรยปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน
ลดการปลูกดาวเรืองต่อเนื่องในแปลงเดียวกัน
ตัดวงจรเชื้อโรคด้วยพืชที่มีระบบรากแข็งแรง
เช่น ข้าวโพด หญ้าแฝก เพื่อช่วยให้ดินโปร่ง

สารเคมีทางการเกษตร
ที่ใช้ควบคุมการเกิดโรค "ใบไหม้" ตัวอย่างเช่น

Carbendazim (1)
Cyazofamid - Ranman (21)
Cymoxanil - Kurzate-M (27)
Dimethomorph - Forum (40)
Ethaboxam - Bokum (U)
Famoxadone - Equation (3)
Fluopicolide - Profiler (U)
Fosetyl-Aluminium (33)
Metalaxyl (4)
Phosphoric acid (33)
Propamocarb - Previcur-N (28)
Tricyclazole - Beam (16.1)

* ชื่อสามัญ - ชื่อการค้า (กลุ่มสารที่จำแนก
ในระบบ FRAC MOA Classification)

เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการควบคุม
โรคพืชสูงสุด จึงควรสลับกลุ่มสารที่ฉีดพ่น
2-3 กลุ่มต่อรุ่นการปลูก

Home               Content

วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2562

Seed Enterprises M&A

ทศวรรษแห่งการควบรวมกิจการเมล็ดพันธุ์ระดับโลกที่ยังอยู่ในความทรงจำของคนในวงการเมล็ดพันธุ์ไม่เสื่อมคลาย


วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ทักษะที่สำคัญของนักเกษตรภาคสนาม


ต้องสารภาพเลยว่างานนักเกษตรภาคสนามต้องใช้จินตนาการสูงมาก
ทั้งตรวจโรค แมลง ตรวจสภาพสิ่งผิดปกติของพืชปลูกในแปลงเกษตรกร
เกษตรกรส่วนใหญ่ก็บอกข้อมูลไม่หมด นึกจะลองภูมินักเกษตร
ก็บอกมาครึ่งๆ กลางๆ ปล่อยให้นักเกษตรวิเคราะห์ท่ามกลางความมืดมิด
ความรู้ที่ได้จากในห้องเรียนเอามาใช้จริงๆ ไม่ถึง 10% ...
... ยืนยันอีกครั้งว่าแค่ 10% !!!
ต้องวาดภาพในอากาศว่าเกิดอะไรขึ้นก่อนที่เราจะมาถึงแปลง
นอกจากเดินสำรวจ ก็ต้องใช้วิธีสัมภาษณ์จากเกษตรกรทุกมุมที่เราพอจะนึกออก
ปัญหาจริงๆ ก็แทบจะค้นไม่เจอจากในตำรา
ยอมรับโดยดุษฎีว่าอาจารย์ที่แท้จริงของเราคือเกษตรกร
อีกทั้งสภาพแวดล้อมในแปลงปลูก บ้านเราก็มีความหลากหลายเสียเหลือเกิน
แต่สิ่งที่ครูบาอาจารย์สอนเรามาในห้องเรียนคือการช่วยเหลือเกษตรกรด้วยหัวใจ
เดี๋ยวนี้เทคโนโลยี social media มันก้าวหน้า
นั่งดูภาพแล้ววิเคราะห์ปัญหาได้หมดจดก็นับว่าเป็นเซียน
วิเคราะห์ผิดพลาดแล้วโดนโห่หน่ะเรื่องเล็ก
นักเกษตรตัวจริงโดนกันมาสารพัดแล้ว ผมเองก็เคยยืนต่อหน้าปืนลูกซองมาแล้ว
แต่สิ่งที่เราได้รับมันยิ่งใหญ่กว่านั้น ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาให้เกษตรกรได้
แต่เราสามารถทำให้เกษตรกรยอมรับในความพยายามที่จะช่วยเขา

จากในภาพตัวอย่าง ถ้ายืนมองแค่หัวแปลง ก็คงจะบอกได้ว่าพริกแปลงนี้ก็ดูแลได้ดี
พริกอายุไม่เกิน 2 เดือน อีกหน่อยเกษตรกรก็คงได้ตังค์ ดีใจกับเขาด้วยจริงๆ
แต่จริงๆ นี่คือพริกอายุ 6 เดือน ห๋า ... !!! ทำไมมันต้นเล็กแค่นี้ แล้วทำไมยังไม่ติดลูก
ถ้าตกใจ กังวลใจ กลัวตอบพลาด ไม่ยากครับ ...
เปลี่ยนไปคุยเรื่องราคาผลผลิต ดินฟ้าอากาศ ลูกเต้าเข้าโรงเรียนหรือยัง
แล้วอาจจะพลิกไปคุยการเมือง จุดประกายไฟรักชาติให้เกษตรกรลืมเรื่องในแปลง
แล้วค่อยๆ ลากเกษตรกรออกมาจากแปลง เดินไปส่งเราที่รถ ไหว้งามๆ สตาร์ทรถ
หยอดอีกนิดหน่อย ... แล้วผมจะมาเยี่ยมอีกน๊าาาาาา ... แล้วก็หายหัวไปตลอดกาล

ถ้าตั้งใจจะมาขายของ ก็เก็บข้อมูลปัญหา สอบถามให้เกษตรกรรู้สึกว่าเราสนใจ
แล้วก็นำเสนอทางแก้ปัญหาด้วยการซื้อผลิตภัณฑ์ชั้นเทพที่บังเอิญติดหลังรถมาด้วย
(ไม่ได้ตั้งใจเอามาขายนะเออ แค่แวะมาเยี่ยม แต่เห็นมีปัญหา ก็เลยอยากช่วย)

บอกตรงๆ ตอนลงแปลงนี้และรับทราบข้อมูลข้างต้น ผมก็บื้อไปพักใหญ่
สาบานว่าตอนนั้นจำได้เรื่องเดียวจริงๆ ที่ลูกค้ารุ่นพี่เคยสอนไว้
พริกจะไม่โต มีเหตุผลเดียว ก็คือระบบราก
ผมกับรุ่นน้องเดินดุ่มลงแปลง คิดในใจถ้าพลาดก็จะคุยเรื่องราคากับการเมือง
(อ่ะ ย้อเย่น เรื่องหลังนี้เป็นเรื่องที่ผมไม่ชอบเอาเสียเลย)
บอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง ลูกมาดี อย่าให้ลูกมาจบชีวิตที่นี่เลย ... อ่ะ ย้อเย่นอิกแย้ว
ขออนุญาตเจ้าของแปลงถอนต้นพริกสัก 1 ต้น พี่แกยิ้มสุดหวาน พยักหน้าเบาๆ
หันไปสบตากับรุ่นน้อง น้องมันพยักหน้าให้ 2 ที อะไรวะ สัญญานให้วิ่งเหรอ
ผมจะหันหลังรอโกยแล้ว น้องมันกลับบอก ... เอาวะ แล้วกระชากสุดแรงเกิด
น้องผมมันเซไปสองก้าว เฮ่ย นี่มันท่าเตรียมกระโดดไกลนี่หว่า วิ่งจริงเหรอ เอาดิ
น้องผมกลับไม่วิ่งแต่ยิ้มเผล่ยืนชูต้นพริกกับผลงานที่เป็นรูเล็กๆ บนผืนพลาสติก
ผมยืนนิ่งหลับตาปี๋ แล้วค่อยๆ หรี่ตามองต้นพริกอย่างตั้งใจที่สุดในชีวิต

บร๊ะเจ้า ... !!! ส่วนบนหน่ะเหมือนที่เห็นบนแปลงนั่นแหละ
แต่ส่วนรากนี่สิ ขดเป็นจอกเหล้าขาวเลย แหม๋ เปรียบซะเปรี้ยวปากเบยนะ
ใช่ครับ !!! รากพริกขด ขดเป็นรูปเดียวกับหลุมถาดเพาะกล้านั่นเลย
ผมหันไปมองท้ายแปลงส่วนที่ไม่มีใครยืนอยู่เลย เปล่าครับ ผมไม่ได้มองหาทางหนี
ผมหันไปแอบยิ้มให้กับตัวเองเบาๆ แล้วหันขวับมาจ้องตาหัวหน้ากลุ่มเกษตรกร
ผมว่าพี่เขาน่าจะรู้ตัว แล้วพูดเสียงอ่อยๆ น้ำมันท่วม ย้ายกล้าลงแปลงไม่ได้หน่ะ (T_T)
แหม๋ ไม่บอกซะตั้งแต่ตอนกลับบ้านเลยหล่ะจ๊ะพี่จ๋า
ปรากฎว่าทั้งหมู่บ้านนับร้อยๆ ไร่ เจอปัญหาเดียวกันทั้งหมดครับ
เพราะให้หัวหน้ากลุ่มเพาะต้นกล้าให้ทั้งหมู่บ้าน หัวหน้ากลุ่มก็รู้นะว่าจะเจอปัญหานี้
แต่ครั้นจะเทถาดทิ้ง แหม๋ ลงไปก็หลายหมื่นอยู่นะ ทั้งวัสดุเพาะ ทั้งเมล็ดพันธุ์
กะว่าจะให้นักเกษตรเข้ามาช่วยขายปุ๋ย ขายอาหารเสริมเพิ่มหล่ะสิ ... ชิห์

ท่านคิดว่าไงครับ งานนี้คงต้องถอนทิ้งหล่ะวา
เปล่าครับ ... ผมปรึกษารุ่นน้อง แล้วตัดสินใจร่วมกันว่า ...
ให้เกษตรกรทุกคนฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ ธาตุอาหารพืช ฮอร์โมน อาหารเสริม
แต่จุดประสงค์ไม่ใช่เพื่อขายของครับ สาบานได้ เจอแบบนี้ผมขายของไม่ลงจริงๆ
ผมกับรุ่นน้องเพียงต้องการให้พวกเขาได้เก็บผลผลิตให้ได้มากที่สุดเพื่อเอาทุนคืน
จากนั้นก็วิ่งเข้าไปทุกแปลงเพื่อบอกประโยคเดิมซ้ำๆ เป็นสิบๆ ครั้ง
ขอให้ครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความรู้ของพวกเขา ที่ผมและรุ่นน้องได้มีโอกาสเรียนรู้ด้วย

ความรู้ที่ได้มาครั้งนี้ต้องบอกว่ามาพร้อมกับคราบน้ำตาของเกษตรกรจริงๆ ครับ
ผมไม่เคยลืมเลยว่าชีวิตของผมผ่านมาจนถึงวันนี้ได้อย่างไร
ขอขอบคุณเกษตรกรทุกคน ที่ทำให้ผมยังอยากทำงานนี้อยู่
ทั้งๆ ที่มันไม่ได้ร่ำรวยอะไรเลยกับอาชีพนักเกษตร
หาเลี้ยงชีพจากการขายเมล็ดพันธุ์ ธาตุอาหารพืช ปุ๋ยเคมี/ อินทรีย์ เคมีเกษตร
จนถึงวันนี้ที่แจกไปก็น่าจะเยอะกว่าขาย บริษัทที่ให้ผมเอามาขายคงระอาเต็มที
ถ้าปุ๋ยกับเมล็ดพันธุ์มันกินได้ ผมคงเอามาลวกใส่โปรตีนเกษตรกินกับมาม่าให้ชื่นใจ

ลองกันสักชามไม๊ครับ น้ำเดือดพอดี ... !!!

Home               Content