วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

การคัดเลือกสายพันธุ์พริกขี้หนู


พริกขี้หนูในบ้านเรามีหลายชนิด
แบ่งได้ทั้งขนาดผลและชนิดสายพันธุ์
ที่นิยมปลูกตามแหล่งผลิตต่างๆ อาทิ
พริกหัวเรือ พริกจินดา พริกช่อไสว ฯลฯ

ผู้คนนิยมบริโภคพริกขี้หนูที่ความเผ็ดร้อน
จึงนิยมนำมาประกอบอาหารที่หลากหลาย
การรับประทานสดมีเพียงเป็นเครื่องแนม
กับอาหารรับประทานเล่นบางชนิดเท่านั้น

เกษตรกรนิยมปลูกพริกขี้หนูตลอดทั้งปี
แต่ละภาคปลูกไม่พร้อมกัน
คนไทยจึงมีผลผลิตพริกขี้หนูบริโภคได้ทั้งปี

พริกขี้หนูนำมาแปรรูปได้หลากชนิด
พริกบดทำน้ำจิ้ม พริกแห้ง พริกดอง
บรรจุขวดส่งออกและบริโภคภายในประเทศ
อุตสาหกรรมพริกแปรรูปจึงเติบโตขึ้นทุกปี
การบริโภคพริกขี้หนูคั่วก็เป็นที่นิยมของคนไทย
นำมารับประทานทั้งผลกับแหนมคลุก ฯลฯ
พริกจี่หรือพริกย่างไฟสดๆ ก็เป็นที่นิยม
นำมารับประทานกับก๋วยเตี๋ยว

พริกขี้หนูก็เหมือนกับพืชชนิดอื่นๆ
หากสามารถปลูกได้ในฤดูฝน
จะได้ราคาผลผลิตเฉลี่ยที่ดีที่สุด
เพราะดูแลรักษายาก เสียหายเยอะ
สายพันธุ์พริกขี้หนูที่ดีที่สุดจึงควรทนฝน
ต้านทานโรคพืชที่มากับความชื้นในฤดูฝน
ได้แก่ โรคที่เกิดจากเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย

โรงงานแปรรูปนิยมส่งเสริมให้ปลูกในฤดูแล้ง
เพราะปลูกง่าย ความชื้นในอากาศต่ำ โรคน้อย
ปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมีเป็นจำนวนมาก
ราคารับซื้อจึงไม่แพง สามารถซื้อเก็บเข้าห้องเย็น
เพื่อรอการนำออกมาแปรรูปได้นาน

ลักษณะสายพันธุ์พริกขี้หนูที่เกษตรกรต้องการ
จึงควรเก็บเกี่ยวได้เร็ว เก็บเกี่ยวได้ยาวนาน
การแตกยอดออกดอกทำได้ดี ต้านทานโรค
ระบบรากดี หาอาหารเก่ง

ลักษณะสายพันธุ์พริกขี้หนูที่ตลาดต้องการ
ขนาดผลใหญ่ ยาว เนื้อหนา คงสภาพได้นาน
ขั้วเป็นเยื่อใย ไม่มีความชื้น โรคไม่เข้าทำลาย
ขนาดขั้วยาวใหญ่ เพื่อการสะสมอาหาร
เลี้ยงผลรอการขายได้ยาวนาน
สีเขียวเข้ม สีแดงสด ผิวมัน ไม่มีรอยย่นบนผิว

พริกขี้หนูที่เหมาะทำแห้ง เปลือกบาง ผิวด้าน
แห้งแล้วผิวต้องไม่ย่นเนื่องจากเสียความชื้น
ขั้วยาว ตั้งตรง เมื่อแห้งไม่ดำ ไม่กรอบจนหัก

นอกจากความเผ็ดร้อนของพริกขี้หนูแล้ว
หากมีความหอมด้วยก็จะเพิ่มเสน่ห์
ให้กับพันธุ์พริกขี้หนูได้อีกพะเรอเกวียน

Home               Content

วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

Seed Business Legend

กว่าจะถึงวันนี้ของธุรกิจเมล็ดพันธุ์

นับแต่อดีตกาลเนิ่นนานมาที่มนุษย์รู้จักการผลิตอาหารโดยใช้ส่วนขยายพันธุ์ของพืชมาเพาะเลี้ยง จากการสังเกตว่าพืชสามารถเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ด้วยเมล็ดพันธุ์ที่งอกบนดิน นับจากนั้น มนุษย์จึงเริ่มเก็บสะสมเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากพืชอาหารเพื่อนำมาเพาะปลูก การทำการเกษตร (Agriculture) จึงเริ่มต้นมานับบัดนั้น ในช่วงแรกการเพาะปลูกก็ทำกันไปตามมีตามเกิด อยากปลูกตอนไหนก็หยอดเมล็ดลงตรงนั้น งอกบ้างไม่งอกบ้าง รอจนต้นโต ออกผลผลิตจึงค่อยเก็บเกี่ยว ผลผลิตออกมาหน้าตาอย่างไรก็ไม่ได้ใส่ใจ สมัยก่อนไม่ต้องใส่ปุ๋ยเพราะดินดี กว่าเทคโนโลยีการผลิตพืชจะมาถึงขีดสุดก็ล่วงมาจนถึงศตวรรษที่ 20 วิทยาศาสตร์เกษตรเริ่มมีความเป็นเฉพาะทาง มีการศึกษาเรื่องพันธุ์พืช (Plant Variety) เทคโนโลยีการผลิตและการเก็บเกี่ยว (Cropping and Harvesting) การศึกษาเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ (Seed Technology) เริ่มต้นมาในยุคเดียวกันนี้ นอกจากหน่วยงานการศึกษาและหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชนเริ่มหันมาก่อตั้งกิจการปรับปรุงสายพันธุ์พืชเพื่อการค้าด้วยตนเองมากขึ้น เริ่มต้นจากในสหรัฐอเมริกา ยุโรป จนกระทั่งมาถึงเอเชียโดยมีประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้และประเทศไทยเป็นผู้นำอันดับต้นๆ ในด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชของภูมิภาค เฉพาะในประเทศไทย เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์พืชมีมาแล้วมากกว่า 30 ปี ในขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงเลือกใช้สายพันธุ์พืชท้องถิ่นในการเพาะปลูก บริษัทเอกชนใช้เวลาในช่วงเดียวกันนี้เพื่อแนะนำให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการปลูกสายพันธุ์ท้องถิ่นซึ่งเป็นสายพันธุ์เปิด (Open Pollinated) มาเป็นสายพันธุ์ลูกผสม (F1 Hybrid) ซึ่งมีจุดเด่นคือให้ผลผลิตที่สูงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม

อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์เติบโตก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเมื่อเกษตรกรเริ่มหันมาใช้สายพันธุ์พืช F1 Hybrid มีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ถูกกระจายออกไปทั่วโลกเพื่อความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน สายพันธุ์พ่อ-แม่ (Parent Line) ถูกส่งไปยังประเทศผู้ผลิตหลากหลายสายพันธุกรรม จนกระทั่งเกิดการผลิตลอกเลียนสายพันธุ์เพื่อจำหน่ายแข่งขันกับเจ้าของสายพันธุ์ผู้ว่าจ้างให้ผลิต แล้วผู้ผลิตจึงผันตัวมาเป็นผู้วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์แข่งขันกับอดีตนายจ้างด้วยวัตถุดิบที่อยู่ในมือ หลายประเทศในโลกรวมทั้งประเทศไทยก็พบปัญหาเช่นเดียวกันนี้ เกิดเป็นวงจรอุบาทว์ที่ทำลายชื่อเสียงและตัดโอกาสทางธุรกิจเป็นมูลค่าไม่ใช่น้อยของประเทศดังกล่าว


วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

การคัดเลือกสายพันธุ์พืชตระกูลพริก


พริกที่เป็นที่นิยมในโลกมีด้วยกันหลายชนิด
ชนิดที่นิยมในประเทศไทยเป็นเพียงส่วนหนึ่ง
ของพริกนับร้อยชนิดบนโลก อาทิ
พริกหนุ่ม พริกขี้หนู พริกหวาน พริกหยวก
พริกถูกใช้เพื่อปรุงรสชาติอาหารให้เผ็ดร้อน

ลักษณะต้นพริกที่ดี ต้นตั้งตรง รากแผ่กระจาย
ปริมาณรากเยอะ หากินเก่ง ลดปัญหาอาการ
และโรคพืชที่เกิดจากการขาดธาตุอาหาร
ไม่มีกิ่งกระโดงหรือกิ่งแขนงที่ออกข้างลำต้น
เพราะการติดผลที่กิ่งข้าง จะไปลดคุณภาพ
และปริมาณผลผลิตที่ควรจะออกในส่วนทรงพุ่ม
แตกยอดดี เพื่อเพิ่มพื้นที่และยืดระยะให้ผลผลิต
เจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพแวดล้อม
แข็งแรง ทนทานต่อโรคทางดินและทางใบ
ไม่แสดงอาการของโรคตลอดอายุปลูก
โดยเฉพาะในระยะดอกจนกระทั่งให้ผลผลิต
เพราะจะทำให้ปริมาณผลผลิตลดลงได้

ปริมาณการติดผลมีความต่อเนื่อง สม่ำเสมอ
เก็บเกี่ยวได้ยาวนานตลอดระยะการเจริญเติบโต
ของส่วนยอดที่ออกเป็นคู่

ผลมีเปลือกหนา สีผิวชัดเจน ผิวชั้นในเป็นเยื่อใย
น้ำหนักดี ระดับความเผ็ดตามชนิดของพริกและ
วัตถุประสงค์ในการใช้งานของพริกชนิดนั้นๆ

ขนาดผลสม่ำเสมอ มีสัดส่วนของลักษณะ
ที่ต้องการมากกว่าลักษณะที่คัดทิ้ง
ทนทานการขนส่งระยะทางไกล

ช่องรังไข่ควรมี 3 ช่อง เพื่อค้ำทรงผลไม่ให้แบน
ซึ่งเป็นต้นเหตุของความเสียหายในการขนส่ง

ขั้วผลยาว แห้ง เยื่อใยสูง ความชื้นในขั้วต่ำ
ลดการเข้าทำลายของโรค ยืดอายุการเก็บรักษา
เพื่อรอการขายได้นาน ลดความสูญเสีย

Home               Content

วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

Formula-1 Racing

"ฟอร์มูล่า-วัน" สุดยอดสายพันธุ์พริกแห้งที่ดีที่สุด

"เร็ว แรง แดง ดก" คือคำจำกัดความลักษณะที่โดดเด่นของพริกขี้หนูผลแห้ง "ฟอร์มูล่า-วัน" ด้วยคุณสมบัติเก็บเกี่ยวเร็วมาก (Extra-Early Harvesting) ติดผลดก ขนาดผลใหญ่ เปลือกเหนียวหนา คุณภาพแห้งดีมาก เก็บเกี่ยวผลแห้งได้ทั้งสีเขียวสดและผลสุกแดง สามารถตากในที่ร่ม แห้งไว ผิวสีสวย สม่ำเสมอ เป็นที่ต้องการของตลาด ปลูกง่าย ความงอกดี มีลักษณะที่ดีตรงตามสายพันธุ์ ทนฝน ทนทานโรคทางใบ นิยมปลูกแซมในแปลงพริกขี้หนูผลใหญ่สายพันธุ์อื่นๆ เพื่อสามารถเก็บเกี่ยวสร้างรายได้อย่างรวดเร็วก่อนสายพันธุ์ทั่วไป
จากลักษณะเด่นของสายพันธุ์ "ฟอร์มูล่า-วัน" เกษตรกรสามารถเลือกปลูกได้ 2 ช่วงเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่าง ปลูกในฤดูฝน (เพาะกล้า มีค.-พค.) แซมในแปลงพริกขี้หนูผลใหญ่สายพันธุ์หลักเพื่อเก็บเกี่ยวเร็วเร่งจำหน่ายช่วงเปิดตลาด ได้ราคาดีมาก หรือปลูกในฤดูแล้งช่วงปลายปี (เพาะกล้า สค.-ตค.) เก็บเกี่ยวเพื่อทำพริกแห้งให้ได้ปริมาณผลผลิตสูง

บรรจุซองจำนวน 4,000 เมล็ด จำหน่ายราคา 1,050 บาท (ราคาสินค้าพร้อมค่าขนส่ง EMS)









วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

การคัดเลือกสายพันธุ์บร็อคโคลี่


'บร็อคโคลี่' หรือ 'กะหล่ำดอกอิตาลี่'
เป็นที่นิยมปลูกทุกพื้นที่ทั่วโลก
จากประโยชน์ที่มีวิตามินอีสูง
ทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดมะเร็ง

คุณภาพของบร็อคโคลี่ดูจากขนาดของ bead
หรือที่เรียกกันว่า 'เม็ดสาคู' บนหน้าดอก
Bead ยิ่งเล็ก ละเอียด หน้าดอกยิ่งดูสง่างาม
ได้แก่สายพันธุ์หนักที่มีอายุเก็บเกี่ยวยาวนาน

ในเขตร้อนและกึ่งร้อนในภูมิภาคเอเชีย
นิยมปลูกสายพันธุ์ 60 วัน (หลังย้ายกล้า)
แต่สามารถปลูกสายพันธุ์ 75 วันได้เช่นเดียวกัน

ปริมาณการบริโภคบร็อคโคลี่ในประเทศไทย
มีไม่มากเมื่อเทียบกับพืชตระกูลกะหล่ำชนิดอื่น
เนื่องจากสายพันธุ์ที่ผู้นำเข้านำมาจำหน่าย
เม็ดสาคูใหญ่ ไม่สวย ดูไม่น่ารับประทาน

พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่บนดอยสูงทางภาคเหนือ
แต่สายพันธุ์ 60 วันก็สามารถปลูกได้บนพื้นราบ

ลักษณะสายพันธุ์บร็อคโคลี่ที่ต้องการ
หน้าดอกเป็นโดมสูง เรียบ มน ไม่ตะปุ่มตะป่ำ
เม็ดสาคูเล็ก ละเอียด ขนาดเท่ากันทั้งดอก
หน้าดอกสีเขียวสวย ไม่ปรากฎเม็ดสาคูสีเหลือง
ซึ่งเป็นอาการที่เม็ดสาคูสุกแก่ไม่พร้อมกัน
เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน
น้ำหนักดี ไม่มีไส้กลวง ไม่มีหน้าดอกเน่า
จากการขาดธาตุอาหารพืช
ต้นที่สมบูรณ์ไม่ควรจะปรากฎแขนงย่อย
ซึ่งเป็นส่วนที่แย่งอาหารที่นำไปเลี้ยงดอก

หากผู้ปลูกต้องการปลูกเพื่อจำหน่ายแขนง
ทำได้โดยการตัดส่วนยอดก่อนที่จะสร้างดอก
เพื่อสะสมอาหารให้เพียงพอกับปริมาณแขนง
จึงเก็บเกี่ยวแขนงที่จะออกทุกส่วนของลำต้นได้

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

การคัดเลือกสายพันธุ์กะหล่ำปลี


กะหล่ำปลีที่นิยมบริโภคในโลกมีหลายชนิด
กะหล่ำหัวแบน กะหล่ำหัวกลม กะหล่ำรูปเจดีย์
กะหล่ำใบย่น อายุเก็บเกี่ยวแตกต่างกันไป

สายพันธุ์หัวแบนเป็นสายพันธุ์ที่นิยม
ในประเทศไทยมากที่สุด
ในอดีตมีเพียงสายพันธุ์หนักอายุ 75 วัน
ต่อมาจึงได้พัฒนาเป็นสายพันธุ์เบา เก็บเกี่ยวเร็ว
อายุ  45 วันหลังย้ายกล้า

ลักษณะสายพันธุ์ที่ต้องการ
ทรงหัวรูปวงรีสมมาตร ก้นเรียบ มน ไม่ยกสูง
ขนาดพอเหมาะ น้ำหนัก 1.8-2 กิโลกรัม
สามารถเรียงหมอนบนรถขนส่งได้พอดี
สีใบเขียวเข้ม ชั้นความเขียวมีหลายชั้น
โคนใบส่วนก้นเป็นสีเขียว กาบใบมน
ห่อหัวแน่น แต่ไม่แน่นเกินไปจนใบสีซีดขาว
ขนส่งทางไกลได้โดยไม่เสียหายจากการกดทับ
แกนกลางข้างใน ส่วนกำเนิดใบไม่สูงมาก
ลำต้นสูง ใบล่างลอยเหนือพื้นดิน
ป้องกันการเข้าทำลายของโรคทางดิน
ขนาดกอไม่ใหญ่ ปลูกได้ในระยะชิด
ก้านใบส่วนโคนใบเปิด น้ำไม่ขัง ก้นไม่เน่า
ระบบรากดี หาอาหารเก่ง ปัญหาไส้กลวงน้อย
ขอบใบหนา ลดปัญหาปลายใบไหม้
ปลูกและเข้าหัวได้ทุกสภาพอากาศ ทุกพื้นที่
รสชาติหวานกรอบ ไม่มีกลิ่นฉุน

หากปลูกในฤดูฝน จะได้ราคาดี
สายพันธุ์ที่ดีจึงควรทนฝนและโรคทางใบ
เชื้อสาเหตุที่พบเป็นประจำ ได้แก่
โรคขอบใบทอง ที่มีเชื้อสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย
Xanthomonas campestris
มีอาหารปลายใบเน่าเป็นรูปสามเหลี่ยม
พบมากที่ส่วนใบล่าง มีผลกระทบคือ
ลดพื้นที่การสังเคราะห์แสงสร้างอาหาร
ทำให้ผลผลิตลดต่ำกว่าที่ควร

Home               Content