วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ข้อปฏิบัติในการควบคุมราคาผลผลิตสินค้าเกษตร


ปัญหาโลกแตกของราคาสินค้าเกษตร
มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
การปลูกพืชตามฤดูกาลพร้อมๆ กัน
เป็นสาเหตุใหญ่ที่สุด
ที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
เมื่อผลผลิตออกมาพร้อมกันจนล้นตลาด
เกินกำลังที่ผู้ค้าและผู้บริโภคจะรับไหว
ผลข้างเคียงคือผู้ค้า จำหน่ายผลผลิต
ไม่ทันอายุการเก็บรักษา จึงไม่มีเงิน
ไปจ่ายให้กับเกษตรกร
เกิดเป็นวังวนของความไม่ไว้วางใจ
มหากาพย์ของความหวาดระแวง
ระหว่างผู้ผลิตและผู้ค้าผลผลิต

ปัญหานี้แก้ง่ายนิดเดียว แต่ยากต่อการปฏิบัติ
คือการทยอยผลิต ทยอยส่งจำหน่ายผลผลิต
ให้พอดีกับความต้องการ
ของผู้บริโภคในแต่ละช่วงเวลา
ผู้บริโภคได้บริโภคผลผลิตที่สดใหม่
ผู้ค้าก็ขายหมดเร็ว ได้เงินมาคืนผู้ปลูกไว
ขายหมดก็ไม่มีปัญหา ราคาไหนไม่ว่ากัน

นโยบายของรัฐก็ช่วยอะไรไม่ได้
การแทรกแซงราคาทำได้ชั่วคราว
ราคารับซื้อไม่สะท้อนความต้องการ
ที่แท้จริงของตลาด

การส่งเสริมปลูกผลผลิตพร้อมกัน
เพื่อรับซื้อในปริมาณมากของโรงงานแปรรูป
ก็เป็นการควบคุมราคารับซื้อขั้นสูงเอาไว้
ราคาประกันการรับซื้อผลผลิตจึงไม่สูง

พืชที่มีอายุเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยวยาวนาน
อาทิ ข้าว พืชไร่ ไม้ผล
เกษตรกรสามารถทยอยนำผลผลิตออกจำหน่าย
เพื่อรักษาระดับราคาในตลาดไว้ได้

การนำมาผลผลิตมาแปรรูป
ก็เป็นการพยุงราคา เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตได้

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาผลผลิตสินค้าเกษตร


ตามหลักเศรษฐศาสตร์ อุปสงค์ vs อุปทาน
เมื่อมีกำลังซื้อในตลาดสูง ก็จะมีกำลังผลิตสูง
และเมื่อมีกำลังผลิตสูง  ความต้องการก็จะเข้าสู่
'ภาวะสมดุล' ตัวชี้วัดระดับความต้องการของตลาด
ก็คือ 'ราคา' ระดับราคาสินค้าที่สูงบ่งบอกว่า
มีระดับความต้องการสินค้าชนิดนั้นสูง
โดยมีตัวแปรคือ 'ความยืดหยุ่น'

ผลผลิตเกษตรเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค
หนึ่งในปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลกล้วนต้องการอาหาร
การผลิตในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มีส่วนเกิน
จะช่วยรักษาระดับราคาผลผลิตไว้ได้ในระดับสูง
ผู้จ่ายค่าผลผลิตที่จำเป็นนี้ ได้แก่ ผู้บริโภค

ผลผลิตเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อแปรรูปเป็นอาหาร
ราคาผลผลิตจะถูกผนวกเข้าไปเป็นต้นทุนการผลิต
โรงงานแปรรูปจึงพอใจระดับราคาที่อยู่ในระดับต่ำ
โรงงานมักส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตในปริมาณมาก
ในลักษณะล้นตลาด เพื่อลดอำนาจต่อรองของเกษตรกร

เมื่อกำหนดให้ระดับความต้องการของผู้บริโภคคงที่
ฤดูกาลผลิตก็มีผลต่อระดับราคาสินค้าเกษตร
เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นหรือลดลง
ในฤดูฝนซึ่งมักจะพบปัญหาโรคพืชระบาด น้ำท่วม
ฤดูแล้ง มักจะพบปัญหาแมลงศัตรูพืช ปัญหาขาดน้ำ
ซึ่งจะทำให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ลดลง
ผลผลิตขาดแคลน ไม่เพียงต่อความต้องการของตลาด
ระดับราคาของผลิตจะสูงขึ้น
ตามปริมาณความต้องการของตลาด
ไม่ว่าคุณภาพของผลผลิตจะเป็นเช่นไรก็ตาม
ในทางกลับกัน เมื่อมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาด
มากกว่าปริมาณความต้องการซื้อ
ระดับราคาของผลผลิตจะลดต่ำลง
ไม่ว่าคุณภาพของผลผลิตจะดีเพียงใดก็ตาม

การผลิตสินค้าเกษตรเพื่อให้ได้ราคาสูงสุด
จึงควรมีการวางแผนการผลิตโดยยึดตามข้อมูล
ทางสถิติด้านราคา เพื่อให้ผลผลิตออกสู่ตลาด
ในช่วงที่ผลผลิตขาดแคลน ถึงแม้จะสามารถ
เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในปริมาณที่น้อยกว่า
ค่าเฉลี่ยผลผลิตที่เคยเก็บเกี่ยวได้ในฤดูปกติ
ก็ดูจะคุ้มค่ากว่าการขายผลผลิตในช่วงล้นตลาด

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

บัญชีครัวเรือน บันทึกความมั่งคั่งของเกษตรกร


จะมีสักกี่คน ที่จะรับรู้ระดับความมั่งคั่งของตนเอง
ในระดับที่สามารถบอกได้ว่าทำมาหาได้เท่าไร
ใช้จ่ายประจำเท่าไร ออมได้เท่าไร
ควบคุมรายจ่ายได้อย่างไร
สิ่งที่จะบอกได้คือ "บัญชีครัวเรือน"
ที่ใครก็ทำได้โดยการบันทึกประจำวัน
รายรับ-รายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง
ที่สามารถแยกแยะออกเป็นรายการที่สำคัญ อาทิ

รายรับ (เงินเดือน, ค่าจ้าง, ค่าขายสินค้า)
ค่าอาหาร
ต้นทุนสินค้า (ค่าแรง, ต้นกล้า, วัตถุดิบ)
ค่าเครื่องใช้ส่วนตัว (ของใช้, เสื้อผ้า, แว่นตา)
ค่าใช้จ่ายเรียนรู้ (หนังสือ, ซีดี, ค่าเทอมลูก)
ค่าวัสดุอุปกรณ์ (ปากกา)
ค่าเดินทาง (น้ำมันรถ, ค่ารถไฟฟ้า, ค่าเครื่องบิน)
ค่าบริการ (โทรศัพท์, จอดรถ, ทิป, ขนส่ง, ไปรษณีย์)
เงินออม (หยอดกระปุก, เงินฝาก, หุ้น, กองทุนรวม)
กิจการ (ธุรกิจเสริม)
ทำบุญ
อื่นๆ (รายการไม่ประจำ)

ในการบันทึก เกษตรกรจะสามารถหาค่าเฉลี่ย
รายจ่ายประจำ รายสัปดาห์/ รายเดือน/ รายปี
เพื่อใช้ในการตั้งงบประมาณในรอบถัดไปได้
เกษตรกรสามารถปรับลดค่าใช้จ่าย เพิ่มการออม
โดยดูจากค่าเฉลี่ยแต่ละรายการ

เครื่องมือที่ใช้ก็มีเพียง สมุดบัญชีเล่มเล็กเหมาะมือ
พกพาสะดวก เปิดใช้งานได้ตลอดเวลา
เมื่อเกิดการเคลื่อนย้ายเงินในกระเป๋า

แนะนำให้เป็นเล่มเล็กและบางที่สุด
สามารถบันทึกได้ยาวนานถึงสามปี

พนักงานประจำ เจ้าของกิจการ
ก็นำวิธีการนี้มาใช้ได้
ปรับรายการรายได้ รายจ่ายประจำตามจริง
จะสามารถล่วงรู้ระดับความมั่งคั่งของตนได้ไม่ยาก

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

หญ้าแฝก วัชพืชเพื่อการอนุรักษ์


ขึ้นชื่อว่า 'หญ้า หรือ วัชพืช' ทำให้นึกถึง
ความไร้ประโยชน์ การเบียดเบียน แก่งแย่ง
วัชพืชมีหลายหมื่นสายพันธุ์
พืชทุกชนิดสามารถเป็นวัชพืชได้ หากเกิดและ
เติบโตในพื้นที่ปลูกของพืชประธาน (Main crop)
หรือพืชที่เราปลูกเพื่อใช้ประโยชน์

มีหญ้าชนิดหนึ่ง ที่มีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์
ทรัพยากรดิน น้ำ สิ่งมีชีวิตและธาตุอาหารพืชในดิน
หญ้าชนิดนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อเรียกว่า "หญ้าแฝก"

'หญ้าแฝก' เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีระบบรากลึก แข็งแรง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ในหลวงรัชกาลที่ 9 พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย
ผู้ทรงเป็นองค์ริเริ่มให้นำ 'หญ้าแฝก' มาปลูกกัน
บนพื้นที่ลาดชัน เพื่อการอนุรักษ์หน้าดิน ป้องกัน
การพังทลาย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้สูญเสียหน้าดิน
และธาตุอาหารพืชในดินตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง

ด้วยระบบรากที่ลึก 'หญ้าแฝก' จะช่วยยึดหน้าดิน
ดูดซับและเก็บรักษาความชื้นให้อยู่ในชั้นดิน
ตลอดระยะความลึกที่รากพืชยืดยาวถึง
ซึ่งเป็นบริเวณที่รากพืชดูดความชื้นและหาอาหาร
เพื่อสร้างการเจริญเติบโตที่เรียกว่า Root Zone

ปัญหาโลกร้อน เป็นภัยร้ายของการเกษตร
ปรากฎการณ์เอลนินโญส่งผลต่อฤดูกาลและ
ปริมาณน้ำฝนที่จะใช้เพื่อการเกษตร
การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย
การเผาเศษซากพืชเพื่อการเตรียมแปลงปลูก
วิกฤตการณ์เหล่านี้เป็นภัยต่อระดับความชื้นในดิน
ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชและสิ่งมีชีวิตในดิน

'หญ้าแฝก' จึงเหมาะสมที่จะเป็นพืชปลูกเจ้าประจำ
ในแปลงปลูกพืชทุกชนิด ผัก ไม้ผล พืชไร่ ไม้ยืนต้น
จะปลูกรอบแปลงปลูก รอบโคนต้น ปลูกเป็นแนวยาว
เพื่อรักษาระดับความชื้นในแปลงปลูกให้เพียงพอต่อพืช

หญ้าแฝก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย
มุงหลังคาบ้าน ทำฝาบ้าน จักสานอุปกรณ์เครื่องใช้
ใช้งานในครัวเรือนหรือจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้เสริม
สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานฝีมือและพืชปลูกในสวน

Home               Content