วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562

เกษตรกรรมอินทรีย์


การทำเกษตรอินทรีย์คือการทำเกษตรกรรม
ที่อิงกับสภาพธรรมชาติ ให้ธรรมชาติดูแลกันเอง
มนุษย์เป็นเพียงผู้ควบคุมสมดุลทางธรรมชาติ
และเข้ามาใช้ประโยชน์จากผลผลิตส่วนเพิ่ม
จากธรรมชาติโดยไม่รบกวนสภาพแวดล้อม

การเกษตรอินทรีย์ที่แท้จริง
ยึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแนวคิด
'เกษตรกรรมเพื่อยังชีพอย่างยั่งยืน'
ทุกชีวิตดำรงอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน
ไม่ได้ยึดตามมาตรฐานอินทรีย์ที่ถูกกำหนดขึ้นมา
โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง
เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้โดย
บริโภคผลผลิตที่สามารถผลิตได้ในแปลงปลูก
จำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนผลผลิตส่วนเกิน
แจกจ่ายส่วนขยายพันธุ์ให้กับเพื่อนบ้าน
ที่เป็นสมาชิกในชุมชน
เพื่อขยายศักยภาพการผลิตอาหารให้กับชุมชน

การจัดการพื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์
แบ่งเป็นพืชยืนต้น, พืชหมุนเวียน, พืชอาหาร,
ปศุสัตว์ และที่อยู่อาศัยในสัดส่วนที่พอเหมาะ
มีผลผลิตที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี
ส่วนที่เหลือจากอุปโภค บริโภคก็สามารถนำมา
เป็นอาหารของพืชและสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ผลิต
บริหารจัดการด้วยแรงงานตนเองและครอบครัว

'ดิน หรือ เทหวัตถุ' เป็นปัจจัยสำคัญ
ของการผลิตอาหารในระบบเกษตรอินทรีย์
ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ จะมีอาหารของพืช
และสิ่งมีชีวิตในดิน พืชจะสามารถเจริญเติบโต
ได้อย่างสมบูรณ์ มีภูมิคุ้มกันต้านทานศัตรูพืช
ออกดอกออกผลตามฤดูกาล
ให้ผลผลิตได้อย่างพอเหมาะ

การใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกจากซากพืช มูลสัตว์
ที่ได้จากแปลงผลิต การคลุมดินด้วยเศษพืช
การนำเศษพืช เศษอาหารทำน้ำหมักชีวภาพ
เพื่อใช้ในแปลงผลิต ปลูกพืชคลุมดิน จะช่วยให้
พื้นที่ปลูกมีความอุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ

ผลตอบแทนคือความมั่นคงทางด้านอาหาร
ที่เพียงพอต่อการบริโภคตลอดทั้งปี
มีรายได้เพิ่มจากส่วนที่เหลือจากการบริโภค
สามารถส่งต่อความมั่งคั่งเป็นมรดก
ให้กับลูกหลานได้ทำกินสืบไป

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2562

หลักการทำเกษตรปลอดภัยจากสารพิษ


การทำการเกษตรปลอดสารพิษ
หรือการทำการเกษตรปลอดภัย
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการจัดการ
ธาตุอาหารพืชที่ใส่ให้กับพืชปลูก
เพื่อสร้างการเจริญเติบโต
สร้างความแข็งแรง แข็งแกร่ง
สร้างภูมิต้านทานการเกิดโรคพืช
เพิ่มคุณภาพและปริมาณให้กับผลผลิต

ธาตุอาหารพืชที่ใส่
ซึ่งเป็นสารเคมีในสภาพธรรมชาติ
จะอยู่ในรูปของปุ๋ยชนิดต่างๆ
ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ
อรรถประโยชน์ของปุ๋ยแต่ละชนิด
ก็แตกต่างกันไปตามการนำไปใช้

ปุ๋ยเคมี: เพิ่มปริมาณธาตุอาหารพืช
ให้เพียงพอต่อความต้องการของพืช
ในช่วงเวลาที่จำเป็น

ปุ๋ยอินทรีย์: รักษาระดับธาตุอาหารพืช
ปรับสภาพความเหมาะสมของดิน
ต่อการปลดปล่อยธาตุอาหารพืช

ปุ๋ยชีวภาพ: เพิ่มประสิทธิภาพการละลาย
และความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืช

การเลือกใช้ชนิดของปุ๋ยที่ใส่ให้กับพืช
ก็ขึ้นอยู่วัตถุประสงค์และความต้องการ
ต้นทุนของการหามาใช้ของผู้ปลูกเป็นหลัก

การใช้แบบผสมผสาน คือแนวทางที่เหมาะสม
จะ 1 + 1 หรือ 1 + 2 ก็ตามแต่ประสงค์
ดังเหตุผลข้างต้นที่กล่าว

ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบ
ทั้งหมดทั้งปวงก็เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ศัตรูพืชสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อปริมาณผลผลิตในแปลงปลูกของเกษตรกร


การเข้าโจมตีพืชปลูกโดยศัตรูพืช
ระดับความสามารถในการให้ผลผลิตของพืชปลูก
ลดลง โดยการรบกวนการสร้างการเจริญเติบโต
และการสร้างผลผลิต ทำให้ผลผลิตลดต่ำลงได้

วัชพืช แย่งน้ำ แย่งอาหารในดินจากพืช วัชพืช
หลายชนิดมีระบบรากลึกกว่าพืชหลักในแปลงปลูก
การให้น้ำ หว่านปุ๋ยจึงควรจำกัดพื้นที่ในทรงพุ่ม
ในแปลงที่ได้รับน้ำ ธาตุอาหารมากเกินไป วัชพืช
สามารถเจริญเติบโต มีทรงพุ่มสูงกว่าพืชประธาน
หรือปกคลุมต้นพืชประธาน เช่น ฝอยทอง
แย่งแสงแดดเพื่อการสังเคราะห์แสง
ทำให้พืชประธานหยุดการเจริญเติบโตได้

เชื้อรา เข้าทำลายพืชปลูกในสภาพที่มีความชื้นสูง
ในสภาพอากาศร้อนชื้นจะพบเชื้อรากลุ่มใบจุด
ในสภาพอากาศเย็นชื้นจะพบเชื้อรากลุ่มใบไหม้
และอาจจะพบการเข้าทำลายซ้ำของเชื้อแบคทีเรีย
จึงควรตัดแต่งทรงพุ่มของพืชประธานให้โปร่ง
เชื้อราบางชนิดอาศัยอยู่ในดิน เมื่อสภาพแวดล้อม
เหมาะสม มีความชื้นในดินสูง เชื้อราสามารถ
เข้าทำลายพืชจากส่วนโคนต้นได้

เชื้อแบคทีเรีย พบเกิดซ้ำในส่วนที่เป็นแผล
ที่เกิดจากเชื้อราภายหลังการเข้าทำลาย
ลักษณะเป็นจุดฉ่ำน้ำ, พบเป็นสะเก็ดบนหน้าใบ
และส่วนของลำต้น หรือพบเป็นเชื้อในดิน
ที่สามารถเข้าทำลายพืชปลูกทางท่อน้ำ ท่ออาหาร
การควบคุม pH ในดินให้เป็นกลาง
จะช่วยลดการระบาดของเชื้อแบคทีเรียลงได้

เชื้อไวรัส มักจะติดมาจากแมลงปากดูด
ซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสเข้าสู่ต้นพืช มักจะพบ
อาการใบหงิกที่ส่วนปลายยอด ต้นพืชหยุดการ
เจริญเติบโตทันที ไม่สามารถให้ผลผลิตได้

แมลง พบการทำลายจากชนิดปากกัดและปากดูด
เป็นสาเหตุหลักของการเข้าทำลายของเชื้อไวรัส
ต้นพืชหยุดการเจริญเติบโต สูญเสียความสามารถ
ในการสังเคราะห์แสง เมื่อถูกลดพื้นที่ใบโดยการกัด
แมลงหลายชนิดวางไข่ส่วนใต้ใบและใต้ดิน
การตัดแต่งพุ่มให้โปร่ง การทำเขตกรรม
ไถพรวนดินในระยะเตรียมแปลง ปรับสภาพดิน
จะช่วยลดปริมาณการสะสมของแมลงศัตรูพืช
ในแปลงปลูกลงได้

หนอน เข้าทำลายต้นพืชโดยการกัดกินใบ
ทำให้พื้นที่ในการสังเคราะห์แสงลดลง
และถ่ายมูลใส่ใบพืช ทำให้เกิดเชื้อราในบริเวณ
ที่ถ่ายมูล หนอนบางชนิดฝังตัวอยู่ในดิน กัดกินรากพืช
ตัวแก่แมลงวันทองมักจะวางไข่ที่ผล ทำให้ผลผลิต
เสียหาย ขายไม่ได้ราคา

ศัตรูพืชอีกหลายชนิด ไฟโตพลาสมาในอ้อย
สาเหตุการเกิดโรคใบขาว เกิดจากการเข้าทำลาย
ของเพลี้ยจักจั่นหลังขาว  เพลี้ยจักจั่นปีกลายหยัก

การควบคุมโดยการเขตกรรม สร้างความแข็งแกร่ง
ให้กับต้นพืชด้วยธาตุอาหารที่เหมาะสม
ฉีดพ่นสารชีวภาพหรือสารสังเคราะห์ป้องกันกำจัด
ในระยะเวลาที่เหมาะสม ก่อนพบการระบาด
ตัดแต่งต้นพืชให้โปร่ง ลดการสะสมโรค แมลง
จะช่วยลดความรุนแรงของศัตรูพืชที่เข้าทำลาย
ลดต้นทุนการจัดการ ปริมาณผลผลิตก็เพิ่มขึ้น

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ลดต้นทุนด้วยการป้องกัน เพิ่มประสิทธิภาพการให้ผลผลิต


แนวคิดการจัดการศัตรูพืชแนวใหม่
คือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับพืช
พืชจะสามารถป้องกันตัวเอง
จากการเข้าทำลายของ
ศัตรูพืชที่ระบาดได้

ใช้สารป้องกันกำจัดที่มี efficacy สูง
สลับกับสารป้องกันกำจัดมาตรฐาน
เพื่อลดต้นทุนการจัดการศัตรูพืช
เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุม

สารออกฤทธิ์ใหม่ในปัจจุบัน
จะถูกออกแบบมาให้ฉีดพ่นน้อยครั้ง
ในระยะการเจริญเติบโตที่เหมาะสมของพืช

โดยทั่วไปมักจะแนะนำให้ฉีดพ่น
ในระยะเจริญเติบโตทางลำต้น
หรือระยะที่พืชกำลังตั้งตัวในแปลงปลูก
และอีกครั้งในระยะก่อนให้ผลผลิต
ซึ่งเป็นระยะวิกฤติของการเข้าทำลาย
ของศัตรูพืชทุกชนิด
เพียง 2 ครั้งตลอดอายุการเก็บเกี่ยว
เพื่อป้องกันการเข้าทำลาย
หรือลดความรุนแรงของการเข้าทำลาย
ของศัตรูพืชทุกชนิด

เลือกใช้สารป้องกันกำจัดมาตรฐาน
ต่างหมวด MOA สลับกับสาร efficacy สูง
เพื่อลดการดื้อต่อสารป้องกันกำจัด

คำนวณปริมาณการใช้ให้เพียงพอ
ต่อฤดูกาลผลิตเดียว เพื่อลดต้นทุน
การเก็บรักษาวัสดุอุปกรณ์

สร้างรายได้จากการ     "ลดต้นทุน"
ควบคุมได้ง่ายกว่าการ "เพิ่มราคา"

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2562

การเกษตรต้นทุนต่ำทำอย่างไร


ราคาเคมีเกษตรสูงขึ้นทุกปี
เพราะความต้องการในตลาดมีสูงปรี๊ด
ฉีดพ่นกันดุเดือด
เพราะมาฉีดกันตอนระบาดหนักแล้ว
ยาดี ยาแพงขนกันมาฉีด
ยิ่งฉีดก็ยิ่งระบาด
เพราะไม่ได้วางแผนการฉีดตั้งแต่ต้นฤดู
ไม่ได้ป้องกันเอาไว้ พืชไม่มีภูมิคุ้มกัน
เสียน้อย เสียยาก เสียมาก เสียง่าย
ชอบกันจริงๆ ยาน็อค
ให้แมลงดิ้นตายตรงหน้ายิ่งสะใจ
ตื่นเช้า เอ๊ะ ไหงยังแห่กันมา
ดูท่าจะระบาดหนักกว่าเก่าด้วย
ตัวแก่บินว่อน ตัวอ่อนเริงร่า
ถึงตอนนี้ยาเถื่อนเป็นที่ต้องการ
แพงเท่าไรไม่ว่า ขอให้หาย เพี้ยง !
รู้ตัวอีกทีตอนเก็บเกี่ยวส่งตลาด
ได้ราคามาต่ำๆ บ่นไปสามวัน ราคายังนิ่ง
แล้วก็โอดว่าต้นทุนสูง

ถ้าไม่หลอกตัวเอง โรคแมลงระบาดทุกปี
ย้ายปลูกใหม่ ต้นเขียว สวยเชียว
แอบวาดฝันว่าปิดครอปจะรวย
ตายละวา ... โรคแมลงมาจากไหน
ร้อนถึงนักเกษตร หายาดีมาให้หน่อย
พอไม่หายก็บ่นยาไม่ดี นักเกษตรมั่ว
มาหลอกขายยาอีกแล้ว
พาลเกลียดนักเกษตรไปอีก
ทีนี้พูดอะไรก็ไม่ฟังแล้ว

เชื่อนักเกษตรอีกสักครั้ง
ฉีดพ่นสารป้องกันเถอะครับ
สลับกลุ่มยาไปเรื่อยๆ ซื้อแพ็คเล็กสุด
ใช้ไม่กี่ครั้งหมด แล้วสลับกลุ่มยา
ประหยัดกว่ากันเยอะ ผลผลิตก็ไม่ลด
ราคาไม่ดี แต่ผลผลิตดีกว่ากันเยอะ
เงินเหลือแน่นอน

Home               Content