วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

การควบคุมการเกิดศัตรูพืช


การเข้าทำลายของศัตรูพืช เกิดได้ตั้งแต่
ส่วนขยายพันธุ์ ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ ท่อนพันธุ์
จากเชื้อสาเหตุของเชื้อรา, เชื้อแบคทีเรีย
และเชื้อไวรัสบางชนิดที่ปนเปื้อนมาจากแปลงผลิต
ป้องกันได้ตั้งแต่การคัดส่วนขยายพันธุ์ที่ปลอดเชื้อ
(Quality Control - QC)
หรือตรวจสอบในกระบวนการรับรองคุณภาพ
(Quality Assurance - QA)
ซึ่งเกษตรกรสามารถทำได้เองง่ายๆ
จากการสังเกต (QC) และการทดสอบ (QA)

เมื่อเข้าสู่ระยะปลูก
เชื้อสาเหตุโรคพืช แมลงศัตรูพืชสามารถปนเปื้อน
ได้จากธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม (อากาศ) ไฟ (อุณหภูมิ)
ควบคุมความรุนแรงของการระบาดได้โดย
ปรับสภาพดิน ทำโครงสร้างทางกายภาพเนื้อดิน
ให้โปร่งร่วนซุย น้ำและอากาศถ่ายเทได้ดี
ดินที่แน่นทึบ รากพืชเจริญไม่ดี พืชเจริญเติบโตช้า
ทำคุณสมบัติให้เป็นกลาง ลดการสะสมเชื้อในดิน
รวมทั้งการวางไข่ของแมลงในดิน ไส้เดือนฝอย
ควบคุมปริมาณการให้น้ำเท่าที่พืชจำเป็นต้องใช้
ปริมาณความชื้นในดินที่สูงเกินไปจะส่งเสริม
การเพิ่มปริมาณของเชื้อโรคในดิน
ในฤดูฝนสามารถพบการระบาดของแมลงปากดูด
พาหะของเชื้อไฟโตพลาสมาในพืชตระกูลอ้อยได้
การตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง จะช่วยลดความชื้น
ลดอุณหภูมิภายในทรงพุ่มลงได้
ลดปัญหาการสะสมศัตรูพืชในบริเวณทรงพุ่ม

หากพบการเข้าทำลายของโรคหรือแมลงศัตรูพืช
ในระยะออกดอก จะเกิดรอยตำหนิที่ผลผลิต
เมื่อขยายขนาดผล ทำให้ขายผลผลิตไม่ได้ราคาดี

ตั้งแต่ระยะออกดอกจนกระทั่งให้ผลผลิต
พืชจะใช้พลังงานทั้งหมดในการสร้างผลผลิต
ความสามารถในการป้องกันตนเองจากศัตรูพืช
จะลดน้อยลง การให้ธาตุอาหารพืชในรูป
Amino acid จากน้ำหมักชีวภาพที่สกัดจากพืช
หรือเศษอาหารที่หมักเป็นระยะเวลานาน
จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งทนทานต่อโรคพืชได้

การใช้สารป้องกันกำจัดควบคู่ไปกับการเพิ่ม
ธาตุอาหารให้กับต้นพืชในปริมาณที่พอเหมาะ
เป็นการชักนำการสร้างภูมิต้านทานให้กับต้นพืช
(Self-Defensive Inducer) โดยใช้ต้นทุน
ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีประสิทธิผลสูงสุด

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

การวิเคราะห์การเกิดศัตรูพืช


พื้นที่ในเขตโซนร้อนแนวเส้นศูนย์สูตร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยและประเทศ
ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ
เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยดำรงเผ่าพันธุ์
ของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์
เป็นพื้นที่ที่สามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี
มีพืชอาศัยหลากชนิดกระจายอยู่ทั่วทั้งทวีป
สภาพอากาศร้อนชื้น เย็นชื้น หนาวเย็น แห้งแล้ง
สลับกันไปในระหว่างปี

จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น
เกษตรกรที่ทำการเกษตรจึงมักพบกับปัญหา
ศัตรูพืชเข้าทำลายพืชปลูกอยู่เป็นประจำ ได้แก่
วัชพืช เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส แมลง หนอน
อีกทั้งไฟโตพลาสม่า ไมโคพลาสม่า ไส้เดือนฝอย
ที่พบกระจายเป็นวงกว้าง

เกษตรกรต้องรู้จักสังเกตสภาพแวดล้อมโดยรอบ
ฤดูกาล ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ลักษณะดิน
พืชพรรณถิ่น แหล่งน้ำ ปริมาณน้ำในดิน
ชนิดของพืชปลูก การจัดการแปลงปลูก
ลักษณะสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง
ก็จะพบศัตรูพืชต่างชนิดกัน

ในสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกันอยู่ด้วยกัน
ที่ราบลุ่มเชิงเขา พื้นที่ราบใกล้แหล่งน้ำ
อุณหภูมิกลางวัน-กลางคืน แตกต่างกันมาก
สามารถพบโรคพืชต่างกลุ่มในแปลงปลูกเดียวกัน
แตกต่างจากสภาพพื้นที่ราบหรือสูงชัน
เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะพบกลุ่มโรคเพียง
ชนิดใดชนิดหนึ่งอย่างชัดเจน

ดินในพื้นที่ปลูกที่ขาดการบำรุงรักษา
เป็นแหล่งสะสมโรค แมลง ที่พร้อมจะเข้าทำลาย
พืชปลูกได้ตั้งแต่ระยะต้นกล้า การจัดการดินที่ดี
จะช่วยลดความรุนแรงของศัตรูพืชได้อีกทางหนึ่ง

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

กินเพื่อสุขภาพ


อาหารคือสารตั้งต้นของการสร้างสุขภาพ
สุขภาพจะดีเมื่อเรารับประทานอาหาร
ตามใจร่างกาย
สุขภาพจะแย่เมื่อเรารับประทานอาหาร
ตามใจปาก
ต้นเหตุของโรคภัยที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ล้วนมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป
อาหารจานด่วน
อาหารตามร้านอร่อยที่แนะนำกัน
อาหารที่ปรุงแต่งรสชาติ
อาหารหมักดอง
อาหารตะวันตก
อาหารแช่แข็ง
อาหารกล่อง

คนไทยในสมัยโบราณ
มีสุขภาพที่ดี อายุยืนยาว
เพราะรับประทานอาหารที่มาจากธรรมชาติ
พืชผักสดๆ ที่เก็บมาจากสวนครัวหลังบ้าน
อาหารที่เก็บมาจากป่า
อาหารที่อยู่ในแหล่งน้ำ
อาหารที่ปลูกขึ้นเอง
แล้วจึงนำมาลวกหรือต้มด้วยน้ำสะอาด บริสุทธิ์

ด้วยวิถีชีวิตที่รีบเร่ง
การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ
แข่งขันกับทุกสิ่ง รวมทั้งกับตัวเอง
ล้วนนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บ
เวชภัณฑ์ที่ผ่านการสังเคราะห์
จะส่งผลให้เกิดภัยอันตรายต่อร่างกาย
ในระยะยาว

หันมาทานอาหารจากธรรมชาติ
และที่ปลูกขึ้นเอง
ใช้เวชภัณฑ์จากธรรมชาติ
ที่เรียกว่า สมุนไพร กันเถอะครับ
จะได้มีความสุขได้อย่างยั่งยืนและยาวนาน

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เกษตรกรรมอินทรีย์แบบขอไปที


มันจะดูแปลกสักหน่อย
ผักที่ฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
ซึ่งเป็นวัตถุดิบเพิ่มต้นทุนของเกษตรกร
ขายได้ในราคาที่ถูก เพราะสามารถ
ลดข้อจำกัดของปริมาณผลผลิต
ที่เข้าสู่ตลาดลงได้
อันนี้เป็นกลไกตลาด จึงพอจะเข้าใจ

ผักอินทรีย์ที่ควรจะมีราคาถูก
เพราะควรจะมีต้นทุนต่ำ กลับถูกปั่นขาย
ในตลาดด้วยราคาที่แพง
จนมีคำถามตามมาว่า
ที่แท้ เกษตรอินทรีย์คือ วิธีปฏิบัติ
หรือ การตลาดกันแน่

เกษตรกรหลายท่าน
ตั้งใจผลิตสินค้าเกษตรในระบบอินทรีย์
ด้วยการพึ่งพาธรรมชาติโดยแท้จริง
อันนี้น่าสนับสนุน เพราะเป็นวิถีดั้งเดิม
แต่ถ้าเป็นเกษตรอินทรีย์ที่ฉีดพ่น
ด้วยสารป้องกันกำจัดฯ ที่อ้างกันว่า
สกัดจากชีวภาพ อันนี้เข้าข่ายต้องสงสัย
เพราะ เกษตรอินทรีย์ที่แท้จริง
ไม่ควรจะต้องฉีดพ่นอะไรลงในแปลงเลย

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เร่งส่งเสริมเสียจน
ละเว้นข้อปฏิบัติออกไปหลายประการ
จะด้วยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมไม่มีความรู้
หรือขอแค่เพียงได้สร้างผลงาน

อบรมสัมมนา เศรษฐกิจพอเพียง
หมดงบมหาศาล แล้วก็เลี่ยงบาลี
ด้วยการผลักดัน เกษตรปลอดสาร
ให้เป็น เกษตรอินทรีย์
สนับสนุนให้ใช้สารอินทรีย์ชีวภาพ
เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง
ตามแก้ปัญหากันจนไม่มีที่สิ้นสุด

Home               Content