วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2562

การป้องกันกำจัดโรคใบจุดในดาวเรือง


"โรคใบจุด" หรือ Early Blight สามารถเกิดได้
ในสภาพอากาศ 'ร้อนและมีความชื้นสูง'
ดังเช่นสภาวะอากาศในประเทศไทย

โรคพืชในกลุ่ม Early Blight ที่พบการระบาด
อยู่เป็นประจำในแปลงปลูก 'ดาวเรือง' รวมทั้ง
พืชผักเศรษฐกิจอีกหลายชนิด อาทิ

Alternaria Leaf Spot

โรคพืชในกลุ่มนี้จะแสดงอาการแตกต่างกันไป
ตามชนิดของเชื้อสาเหตุ ลักษณะที่มีร่วมกันคือ
เกิดอาการเป็นจุดมีวงรอบ มีขอบแผลที่ชัดเจน
พบสปอร์ราใต้ใบเมื่ออากาศมีความชื้นสูง

ควบคุมโรคโดยการฉีดพ่นสาร Mancozeb,
Carbendazim หรือ Propineb สัปดาห์ละครั้ง
ตั้งแต่ระยะกล้า จนกระทั่งเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ
สารป้องกันการเกิดโรคพืชเหล่านี้มีราคาไม่แพง
เมื่อเปรียบเทียบกับสารกำจัดฯ ที่มี efficacy สูง
ตัวอย่างเช่น

Azoxystrobin - Amistar (11)
Kresoxim-methyl - Stroby (11)
Myclobutanil - Cysten 24E (3)
Procymidone - Sumilex (2)
Propineb - Antracol (M)
Pyraclostrobin - Headline (11)
Tridemorph - Calixin (5)
Trifloxystrobin - Flint (11)
Triforine - Saprol (3)

* ชื่อสามัญ - ชื่อการค้า (กลุ่มสารที่จำแนก
ในระบบ FRAC MOA Classification)

'การป้องกัน' ช่วยลดความเสียหายของผลผลิต
สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตในปริมาณที่มากกว่า
'การกำจัด' ในระยะหลังการเข้าทำลายของโรค
มากกว่าร้อยละ 40 ของผลผลิตรวม

อย่ารอให้เกิดการระบาดของโรคพืชแล้วจึงลงมือ
โรคพืชในยุคปัจจุบันมีการปรับตัวให้สามารถ
เข้าทำลายในสภาพแวดล้อมที่ยืดหยุ่นกว่าที่เคย
'การป้องกันการเกิดโรคพืช' เป็นหนทางเดียว
ที่จะควบคุมและรักษาระดับปริมาณผลผลิต
เอาไว้ได้ในเชิงเศรษฐกิจ

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2562

การป้องกันกำจัดโรคใบไหม้ในดาวเรือง


"ดาวเรือง" เป็นพืชในวงศ์ Compositae
พบว่ามีโรคพืชที่สำคัญคล้ายคลึงกับ
พืชในตระกูล Solanaceae
ได้แก่ พริก มะเขือ และมันฝรั่ง
โรคที่มักพบในแปลงปลูกดาวเรือง อาทิ ใบไหม้
ใบจุด ดอกเน่า ก้านเน่า ไส้กลวง เหี่ยวเขียว
การป้องกันกำจัด จึงควรปฏิบัติเช่นเดียวกัน

ควบคุมโรคทางดินด้วยเชื้อรา
Trichoderma harzianum
ควบคุมโรคทางใบด้วยเชื้อแบคทีเรีย
Bacillus subtillis
หรือป้องกันการเกิดโรคด้วยการฉีดพ่นสาร
Mancozeb อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระยะย้ายปลูก
จนกระทั่งเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในฤดูกาลนั้น
หากเริ่มพบการระบาด ให้สลับมาฉีดพ่นสาร
Carbendazim และ Propineb ตามลำดับ

อาการ 'ใบไหม้' หรือ Late Blight เกิดจาก
เชื้อรา Phytophthora infestans มักจะพบ
ในสภาพอากาศ 'หนาวเย็นและมีความชื้นสูง'
สามารถเกิดได้ทุกสภาพพื้นที่
หรือแม้กระทั่งในพื้นที่เขตร้อน ซึ่งมีอุณหภูมิ
กลางวัน-กลางคืนต่างกันมากกว่า 15 'C
รวมทั้งในแหล่งปลูกที่มีการสะสมของเชื้อสาเหตุ
ซึ่ง pH ของดินมักจะต่ำกว่า 5.5 ลงไป
เชื้อราชนิดนี้อาศัยอยู่ในดินได้เป็นระยะเวลานาน
อาการที่พบ ใบจะมีสีดำเป็นวงกว้าง ไม่มีสัณฐาน
ไม่พบสปอร์ราที่ใต้ใบ เชื้อสามารถลุกลามไปได้
ทั่วทั้งลำต้นและพื้นที่อับชื้นในบริเวณทรงพุ่ม
เกษตรกรจึงควรตัดแต่งกิ่งที่ไม่มีประโยชน์
ในระหว่างและภายหลังการเก็บเกี่ยวทุกครั้ง
เพื่อป้องกันการระบาดของโรคในแปลงปลูก

หากพบการระบาดรุนแรง ไม่สามารถควบคุมได้
ควรถอนต้นทิ้ง เพื่อนำไปเผาไฟ ไม่ควรกลบฝัง
เพราะเชื้อสาเหตุสามารถเคลื่อนที่ไปกับน้ำได้
ทั้งยังจะสะสมอยู่ในพื้นที่ปลูกและรอบแปลง

เกษตรกรหมั่นตรวจ pH ดิน ให้อยู่ระดับ 6.5-7
หว่านปุ๋ยอินทรีย์ โรยปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน
ลดการปลูกดาวเรืองต่อเนื่องในแปลงเดียวกัน
ตัดวงจรเชื้อโรคด้วยพืชที่มีระบบรากแข็งแรง
เช่น ข้าวโพด หญ้าแฝก เพื่อช่วยให้ดินโปร่ง

สารเคมีทางการเกษตร
ที่ใช้ควบคุมการเกิดโรค "ใบไหม้" ตัวอย่างเช่น

Carbendazim (1)
Cyazofamid - Ranman (21)
Cymoxanil - Kurzate-M (27)
Dimethomorph - Forum (40)
Ethaboxam - Bokum (U)
Famoxadone - Equation (3)
Fluopicolide - Profiler (U)
Fosetyl-Aluminium (33)
Metalaxyl (4)
Phosphoric acid (33)
Propamocarb - Previcur-N (28)
Tricyclazole - Beam (16.1)

* ชื่อสามัญ - ชื่อการค้า (กลุ่มสารที่จำแนก
ในระบบ FRAC MOA Classification)

เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการควบคุม
โรคพืชสูงสุด จึงควรสลับกลุ่มสารที่ฉีดพ่น
2-3 กลุ่มต่อรุ่นการปลูก

Home               Content

วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2562

Seed Enterprises M&A

ทศวรรษแห่งการควบรวมกิจการเมล็ดพันธุ์ระดับโลกที่ยังอยู่ในความทรงจำของคนในวงการเมล็ดพันธุ์ไม่เสื่อมคลาย


วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ทักษะที่สำคัญของนักเกษตรภาคสนาม


ต้องสารภาพเลยว่างานนักเกษตรภาคสนามต้องใช้จินตนาการสูงมาก
ทั้งตรวจโรค แมลง ตรวจสภาพสิ่งผิดปกติของพืชปลูกในแปลงเกษตรกร
เกษตรกรส่วนใหญ่ก็บอกข้อมูลไม่หมด นึกจะลองภูมินักเกษตร
ก็บอกมาครึ่งๆ กลางๆ ปล่อยให้นักเกษตรวิเคราะห์ท่ามกลางความมืดมิด
ความรู้ที่ได้จากในห้องเรียนเอามาใช้จริงๆ ไม่ถึง 10% ...
... ยืนยันอีกครั้งว่าแค่ 10% !!!
ต้องวาดภาพในอากาศว่าเกิดอะไรขึ้นก่อนที่เราจะมาถึงแปลง
นอกจากเดินสำรวจ ก็ต้องใช้วิธีสัมภาษณ์จากเกษตรกรทุกมุมที่เราพอจะนึกออก
ปัญหาจริงๆ ก็แทบจะค้นไม่เจอจากในตำรา
ยอมรับโดยดุษฎีว่าอาจารย์ที่แท้จริงของเราคือเกษตรกร
อีกทั้งสภาพแวดล้อมในแปลงปลูก บ้านเราก็มีความหลากหลายเสียเหลือเกิน
แต่สิ่งที่ครูบาอาจารย์สอนเรามาในห้องเรียนคือการช่วยเหลือเกษตรกรด้วยหัวใจ
เดี๋ยวนี้เทคโนโลยี social media มันก้าวหน้า
นั่งดูภาพแล้ววิเคราะห์ปัญหาได้หมดจดก็นับว่าเป็นเซียน
วิเคราะห์ผิดพลาดแล้วโดนโห่หน่ะเรื่องเล็ก
นักเกษตรตัวจริงโดนกันมาสารพัดแล้ว ผมเองก็เคยยืนต่อหน้าปืนลูกซองมาแล้ว
แต่สิ่งที่เราได้รับมันยิ่งใหญ่กว่านั้น ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาให้เกษตรกรได้
แต่เราสามารถทำให้เกษตรกรยอมรับในความพยายามที่จะช่วยเขา

จากในภาพตัวอย่าง ถ้ายืนมองแค่หัวแปลง ก็คงจะบอกได้ว่าพริกแปลงนี้ก็ดูแลได้ดี
พริกอายุไม่เกิน 2 เดือน อีกหน่อยเกษตรกรก็คงได้ตังค์ ดีใจกับเขาด้วยจริงๆ
แต่จริงๆ นี่คือพริกอายุ 6 เดือน ห๋า ... !!! ทำไมมันต้นเล็กแค่นี้ แล้วทำไมยังไม่ติดลูก
ถ้าตกใจ กังวลใจ กลัวตอบพลาด ไม่ยากครับ ...
เปลี่ยนไปคุยเรื่องราคาผลผลิต ดินฟ้าอากาศ ลูกเต้าเข้าโรงเรียนหรือยัง
แล้วอาจจะพลิกไปคุยการเมือง จุดประกายไฟรักชาติให้เกษตรกรลืมเรื่องในแปลง
แล้วค่อยๆ ลากเกษตรกรออกมาจากแปลง เดินไปส่งเราที่รถ ไหว้งามๆ สตาร์ทรถ
หยอดอีกนิดหน่อย ... แล้วผมจะมาเยี่ยมอีกน๊าาาาาา ... แล้วก็หายหัวไปตลอดกาล

ถ้าตั้งใจจะมาขายของ ก็เก็บข้อมูลปัญหา สอบถามให้เกษตรกรรู้สึกว่าเราสนใจ
แล้วก็นำเสนอทางแก้ปัญหาด้วยการซื้อผลิตภัณฑ์ชั้นเทพที่บังเอิญติดหลังรถมาด้วย
(ไม่ได้ตั้งใจเอามาขายนะเออ แค่แวะมาเยี่ยม แต่เห็นมีปัญหา ก็เลยอยากช่วย)

บอกตรงๆ ตอนลงแปลงนี้และรับทราบข้อมูลข้างต้น ผมก็บื้อไปพักใหญ่
สาบานว่าตอนนั้นจำได้เรื่องเดียวจริงๆ ที่ลูกค้ารุ่นพี่เคยสอนไว้
พริกจะไม่โต มีเหตุผลเดียว ก็คือระบบราก
ผมกับรุ่นน้องเดินดุ่มลงแปลง คิดในใจถ้าพลาดก็จะคุยเรื่องราคากับการเมือง
(อ่ะ ย้อเย่น เรื่องหลังนี้เป็นเรื่องที่ผมไม่ชอบเอาเสียเลย)
บอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง ลูกมาดี อย่าให้ลูกมาจบชีวิตที่นี่เลย ... อ่ะ ย้อเย่นอิกแย้ว
ขออนุญาตเจ้าของแปลงถอนต้นพริกสัก 1 ต้น พี่แกยิ้มสุดหวาน พยักหน้าเบาๆ
หันไปสบตากับรุ่นน้อง น้องมันพยักหน้าให้ 2 ที อะไรวะ สัญญานให้วิ่งเหรอ
ผมจะหันหลังรอโกยแล้ว น้องมันกลับบอก ... เอาวะ แล้วกระชากสุดแรงเกิด
น้องผมมันเซไปสองก้าว เฮ่ย นี่มันท่าเตรียมกระโดดไกลนี่หว่า วิ่งจริงเหรอ เอาดิ
น้องผมกลับไม่วิ่งแต่ยิ้มเผล่ยืนชูต้นพริกกับผลงานที่เป็นรูเล็กๆ บนผืนพลาสติก
ผมยืนนิ่งหลับตาปี๋ แล้วค่อยๆ หรี่ตามองต้นพริกอย่างตั้งใจที่สุดในชีวิต

บร๊ะเจ้า ... !!! ส่วนบนหน่ะเหมือนที่เห็นบนแปลงนั่นแหละ
แต่ส่วนรากนี่สิ ขดเป็นจอกเหล้าขาวเลย แหม๋ เปรียบซะเปรี้ยวปากเบยนะ
ใช่ครับ !!! รากพริกขด ขดเป็นรูปเดียวกับหลุมถาดเพาะกล้านั่นเลย
ผมหันไปมองท้ายแปลงส่วนที่ไม่มีใครยืนอยู่เลย เปล่าครับ ผมไม่ได้มองหาทางหนี
ผมหันไปแอบยิ้มให้กับตัวเองเบาๆ แล้วหันขวับมาจ้องตาหัวหน้ากลุ่มเกษตรกร
ผมว่าพี่เขาน่าจะรู้ตัว แล้วพูดเสียงอ่อยๆ น้ำมันท่วม ย้ายกล้าลงแปลงไม่ได้หน่ะ (T_T)
แหม๋ ไม่บอกซะตั้งแต่ตอนกลับบ้านเลยหล่ะจ๊ะพี่จ๋า
ปรากฎว่าทั้งหมู่บ้านนับร้อยๆ ไร่ เจอปัญหาเดียวกันทั้งหมดครับ
เพราะให้หัวหน้ากลุ่มเพาะต้นกล้าให้ทั้งหมู่บ้าน หัวหน้ากลุ่มก็รู้นะว่าจะเจอปัญหานี้
แต่ครั้นจะเทถาดทิ้ง แหม๋ ลงไปก็หลายหมื่นอยู่นะ ทั้งวัสดุเพาะ ทั้งเมล็ดพันธุ์
กะว่าจะให้นักเกษตรเข้ามาช่วยขายปุ๋ย ขายอาหารเสริมเพิ่มหล่ะสิ ... ชิห์

ท่านคิดว่าไงครับ งานนี้คงต้องถอนทิ้งหล่ะวา
เปล่าครับ ... ผมปรึกษารุ่นน้อง แล้วตัดสินใจร่วมกันว่า ...
ให้เกษตรกรทุกคนฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ ธาตุอาหารพืช ฮอร์โมน อาหารเสริม
แต่จุดประสงค์ไม่ใช่เพื่อขายของครับ สาบานได้ เจอแบบนี้ผมขายของไม่ลงจริงๆ
ผมกับรุ่นน้องเพียงต้องการให้พวกเขาได้เก็บผลผลิตให้ได้มากที่สุดเพื่อเอาทุนคืน
จากนั้นก็วิ่งเข้าไปทุกแปลงเพื่อบอกประโยคเดิมซ้ำๆ เป็นสิบๆ ครั้ง
ขอให้ครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความรู้ของพวกเขา ที่ผมและรุ่นน้องได้มีโอกาสเรียนรู้ด้วย

ความรู้ที่ได้มาครั้งนี้ต้องบอกว่ามาพร้อมกับคราบน้ำตาของเกษตรกรจริงๆ ครับ
ผมไม่เคยลืมเลยว่าชีวิตของผมผ่านมาจนถึงวันนี้ได้อย่างไร
ขอขอบคุณเกษตรกรทุกคน ที่ทำให้ผมยังอยากทำงานนี้อยู่
ทั้งๆ ที่มันไม่ได้ร่ำรวยอะไรเลยกับอาชีพนักเกษตร
หาเลี้ยงชีพจากการขายเมล็ดพันธุ์ ธาตุอาหารพืช ปุ๋ยเคมี/ อินทรีย์ เคมีเกษตร
จนถึงวันนี้ที่แจกไปก็น่าจะเยอะกว่าขาย บริษัทที่ให้ผมเอามาขายคงระอาเต็มที
ถ้าปุ๋ยกับเมล็ดพันธุ์มันกินได้ ผมคงเอามาลวกใส่โปรตีนเกษตรกินกับมาม่าให้ชื่นใจ

ลองกันสักชามไม๊ครับ น้ำเดือดพอดี ... !!!

Home               Content

วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2562

การควบคุมการเกิดศัตรูพืชโดยใช้ธาตุอาหารพืช


วิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกัน
การเกิดโรคและแมลงศัตรูพืช
ในการปลูกพืชปลอดภัยจากสารพิษ
คือการสร้างความแข็งแรงให้กับพืช
เพื่อให้พืชสร้างภูมิต้านทานด้วยตนเอง
ทำได้โดยการจัดการธาตุอาหารพืช
ให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม

จากงานวิจัยพบว่า
สูตรปุ๋ยที่มีสัดส่วนของ
ธาตุฟอสฟอรัสและโปตัสเซี่ยม
สูงกว่าธาตุไนโตรเจน
จะช่วยให้พืชมีความต้านทาน
ต่อโรคพืชและแมลงศัตรูพืช
สูงกว่าการใช้สูตรปุ๋ย
ที่มีธาตุไนโตรเจนสูงกว่า
ธาตุอาหารพืชทั้งสองชนิด

ด้วยคุณสมบัติของธาตุทั้งสองชนิด
ที่ช่วยต้านทานการเกิดโรคพืช
ป้องกันความเสียหายจากการ
ได้รับธาตุไนโตรเจนมากเกินไป
ช่วยกันทำให้ลำต้นพืชแข็งแกร่งขึ้น

ธาตุทั้งสองชนิดจะร่วมกันสร้าง
รากพืชที่มีความสมบูรณ์แข็งแรง
ให้มีปริมาณที่มากขึ้น ยืดยาวขึ้น
ส่งเสริมให้พืชหาอาหารและน้ำ
เข้าสู่ต้นพืชและเซลพืชได้ดีขึ้น

ธาตุอาหารพืชทั้งสองชนิด
จะปรับสมดุลให้กันและกัน
ธาตุฟอสฟอรัสจะช่วยดึงดูด
ธาตุโปตัสเซี่ยมมาใช้ประโยชน์
ในขณะที่ธาตุโปตัสเซี่ยม
จะลดผลข้างเคียงของธาตุฟอสฟอรัส
ที่มีผลต่อการเร่งการสุกแก่ของพืช
โดยการชะลอความชราของพืช
จากการได้รับฟอสเฟต
ที่มากเกินความจำเป็น

ในการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช
ธาตุอาหารพืชทั้งสองชนิด
ล้วนเป็นส่วนที่สำคัญ
ต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์
ธาตุฟอสฟอรัสช่วยในการ
ออกดอกและสร้างเมล็ด
ธาตุโปตัสเซี่ยมช่วยเพิ่มความแข็งแรง
เพิ่มการสะสมอาหารและน้ำหนักเมล็ด
ทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีมากขึ้น
เป็นที่ต้องการของตลาดและเกษตรกร

Home               Content